กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--Syn company
กระทรวงพลังงาน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวประแสโฮมสเตย์ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ลดต้นทุนค่าพลังงาน และยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่งคั่ง และยั่งยืน
จังหวัดระยอง-วันนี้ (29 เมษายน 60) นายวรพจน์ ทันดร พลังงานจังหวัดระยอง กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน เพื่อลด "ต้นทุนพลังงาน" ในกระบวนการผลิตของชุมชน ที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นไฟ้ฟ้า ฟืน ถ่าน LPG ในกระบวนการทอด นึ่ง อบแห้ง คั่ว ต้ม กลั่น โดยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างต้นแบบความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานพลังงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อส.พน.) ให้ประชาชนผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงาน โดยจะเน้นสำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมและขนาดจิ๋วของชุมชน (SMCE -Small and Micro Community Enterprise) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs - Small and Medium Enterprises ) เป็นหลัก
พลังงานจังหวัดระยอง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยได้มี การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งก็คือ กลุ่มท่องเที่ยวประแสโฮมสเตย์ ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง โดยในกลุ่มดังกล่าวได้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรชาใบขลู่ ซึ่งเป็นสินค้ามีชื่อของท้องถิ่นไว้จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักที่โฮมสเตย์ เพื่อเป็นรายได้เสริมจากการการท่องเที่ยว ซึ่งแต่เดิมก่อนที่กระทรวงพลังงานจะเข้าไปส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ชุมชนต้องเสียทั้งเวลาและค่าพลังงานในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของค่า แก๊ส LPG และค่าไฟฟ้าปีละ 16,200 บาท/ปี และเสียเวลาในการตากใบชา 1 วัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้กระบวนการผลิตรูปแบบเดิมไม่ค่อยมีคุณภาพมากนัก แต่ภายหลังจากที่ทางกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตให้กับชุมชน ได้แก่ ชุดครอบเตาแก๊สประหยัดพลังงาน และอุปกรณ์ในการสร้างโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง 5,400 บาท/ปี คิดเป็น 33 % หรือเสียค่าพลังงานเพียง 10,800 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังสามารถประหยัดเวลาในขั้นตอนการตากใบชาจากการใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ลงมาเหลือเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีคุณภาพมากขึ้น เป็นที่นิยมของตลาดนักท่องเที่ยว สามารถสร้างความมั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี