กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม
สมอ. ผลักดันโปรเจค "ร้าน มอก." อย่างต่อเนื่อง เร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมร้านจำหน่ายร่วมโครงการครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค มั่นใจได้ใช้สินค้ามีมาตรฐานการันตี เครื่องหมาย "มอก" เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพดันยอดขาย เผยอีก 12 ร้านค้าสมัครเข้าร่วมเพิ่ม รวมเป็นเครือข่ายร้าน มอก. แล้ว 441 สาขา
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการร้าน มอก. ณ บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีว่า หลังจากเปิดตัวโครงการร้าน มอก. และมอบป้ายสัญลักษณ์ร้าน มอก. ให้แก่ร้านจำหน่าย และร้านค้าโมเดิร์นเทรดไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สมอ. ก็ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามและแนะนำโครงการ ร้าน มอก. อย่างต่อเนื่อง เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี นครปฐม อุบลราชธานี ขอนแก่น และชลบุรี พร้อมกับเชิญชวนร้านจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ เหล่านี้ ให้เข้าร่วมโครงการ โดยการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องร้าน มอก. กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ประกอบการและเจ้าของร้านค้าได้รับรู้และทราบหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการร้าน มอก. และประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อดีของร้านโมเดิร์นเทรดหลังรับป้ายร้าน มอก.
จากผลการลงพื้นที่ดังกล่าว พบว่าไม่มีร้านจำหน่ายทำผิดเงื่อนไขโครงการ ร้าน มอก. และเป็นที่น่ายินดีว่า มีร้านจำหน่ายให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการร้าน มอก. เพิ่มขึ้นอีก 12 ราย โดยในจำนวนนี้ มี 5 ราย รวม 7 สาขา ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการโครงการแล้ว ได้แก่ ร้านวงศธรวัสดุภัณฑ์ 1999 จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ บริษัท โฮมสุขภัณฑ์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ 2 สาขา ร้านไพโรจน์โลหะกิจ จังหวัดพิษณุโลก หจก.เสาเอกซีเมนต์ จังหวัดพิษณุโลก 2 สาขา และร้าน ธนพัฒน์สตีล จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนร้านค้าที่เหลืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาขออนุมัติเพื่อออกใบรับรองให้เป็นร้านมอก. และอนุญาตให้ใช้ป้ายสัญลักษณ์ "ร้าน มอก." เพื่อไปประกอบการดำเนินธุรกิจได้ต่อไป
สำหรับร้านจำหน่ายที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้วมีจำนวน 8 ราย รวม 434 สาขา ดังนี้
1. บริษัทซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด จำนวน 42 สาขา
2. บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40 สาขา
3. บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 98 สาขา
4. บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) จำนวน 173 สาขา
5. บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 78 สาขา
6. บริษัท ไฟฟ้าชัยมงคล จำกัด
7. บริษัท ฮ. รุ่งเรืองดิจิตอล (2000) จำกัด
8. บริษัท ฮ. รุ่งเรือง จำกัด
และจังหวัดต่อไปที่อยู่ในเป้าหมายของ สมอ. ที่จะลงพื้นที่ตรวจติดตามพร้อมกับแนะนำโครงการในปีนี้ยังมีอีก 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ระยอง และสุราษฎร์ธานี โดย สมอ. ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการในระยะต่อไปให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการผลักดันร้านค้าให้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และให้เป็นไปตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยในคุณภาพสินค้าแก่ประชาชนและผู้บริโภค
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติของร้านจำหน่ายที่จะเป็น "ร้าน มอก." ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เป็นร้านจำหน่ายที่มีสถานที่ตั้งในประเทศไทย และมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือทะเบียนการค้า หรืออื่นๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ทำ หรือผู้นำเข้าที่มีใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กรณีจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ต้องมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานด้วย
สำหรับเกณฑ์การพิจารณา "ร้าน มอก" นั้นจะมีการคัดเลือกผู้ทำ ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. มีการตรวจรับผลิตภัณฑ์เพื่อยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของร้านจำหน่าย มีกระบวนการรับข้อร้องเรียนและดำเนินการกับข้อร้องเรียน และมีการจัดเก็บบันทึกผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน
สมอ. ตั้งเป้าหมายให้โครงการร้าน มอก. สร้างการรับรู้ให้ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน ร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเป็นกลไกสำคัญทางการตลาดในการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ท้องตลาด ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ โดยตั้งเป้าหมาย "ร้าน มอก." จะต้องเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อยืนยันว่าผู้บริโภคจะปลอดภัยจากการใช้สินค้าอุตสาหกรรม และตอกย้ำความเชื่อมั่นในเครื่องหมาย มอก.
สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานบังคับและอยู่ในการกำกับดูแลของ สมอ. มีจำนวน ทั้งสิ้น 104 ผลิตภัณฑ์ในหลายสาขาที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดไฟ บัลลาสต์ สายไฟฟ้า พัดลม ตู้เย็น เตารีด ฯลฯ กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง เช่น ก๊อกน้ำ ฝักบัว โถส้วม สี เหล็กเส้น กระจก ฯลฯ กลุ่มผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ เช่น ของเล่นเด็ก ผงซักฟอก หัวนมยาง และฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้วกว่า 3,000 ราย รวม 71,729 ฉบับ เป็นใบอนุญาตผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ จำนวน 59,341 ฉบับ ผลิตภัณฑ์มาตรฐานทั่วไป จำนวน 12,388 ฉบับ จึงขอฝากไปยังผู้บริโภคหากเลือกซื้อสินค้าทุกครั้ง ขอให้สังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และเพื่อความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ให้เลือกซื้อจากร้าน มอก. ตามสัญลักษณ์นี้ ก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างแน่นอน