กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กสอ. จับมือเดลต้าฯ จัดกิจกรรม Angel Fund for Startup รุกผลักดันสตาร์ทอัพสัญชาติไทย แจกไม่อั้นสูงสุดรายละ 5 แสนบาท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยธุรกิจสตาร์ทอัพมาแรงกลุ่มผู้ประกอบการ และผู้บริโภคขณะนี้ จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค สตาร์ทอัพด้านธุรกรรมทางการเงิน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และสตาร์ทอัพด้านบริการซอฟต์แวร์และการบริหารจัดการองค์กรทางออนไลน์ โดยล่าสุด กสอ. ได้ร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จัดโครงการ "Angel Fund for Startup" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบเงินให้เปล่ารายละไม่เกิน 5 แสนบาท ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 และ Energy Management
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า "สตาร์ทอัพ (Startup)" ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวนี้ถือเป็นบริบททางการดำเนินธุรกิจของคนเจเนอเรชั่นใหม่ที่มีทั้งการใช้เทคโนโลยี – นวัตกรรม มีความกล้าคิด ชอบเรียนรู้ที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ และยังมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยให้การดำเนินธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แต่อย่างไรก็ตามการผลักดันด้วยการส่งเสริมความรู้ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอต่อการช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการดำเนินกิจการและเริ่มก่อตั้งธุรกิจจำเป็นต้องมีปัจจัยด้านเงินทุนมาร่วมส่งเสริมและสานฝันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรมและเต็มรูปแบบ โดยจัดโครงการ "Angel Fund for Startup" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบเงินให้เปล่ารายละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้หลายคนจะมองว่าสตาร์ทอัพเป็นเพียงแค่ธุรกิจเล็ก ๆ แต่ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นฟันเฟืองหนึ่งของการสร้างพลังทางการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ สามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่อุตสาหกรรมหรือตลาดกลุ่มใหม่ได้ในอนาคต ทั้งยังจะช่วยทำให้เกิดงานบริการ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงแนวโน้มในระยะ 2 ปีนี้ จะมีการสนับสนุนการลงทุนกลุ่มเทคสตาร์อัพประมาณ 8,500 ล้านบาท จึงนับเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลกในยุคที่กระแสและความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดย กสอ. พบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภคในขณะนี้ ได้แก่
1. สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค (Life style) อาทิ การค้นหางาน การให้บริการจองร้านอาหารหรือโรงแรม การท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคล้วนมีความต้องการและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์มากขึ้น
2. สตาร์ทอัพด้านการให้บริการธุรกรรมทางการเงินและการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น การชำระเงิน การกู้ยืมเงิน การโอนเงิน การซื้อขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่น ซึ่งนับว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกรรมทางการเงินได้สอดแทรกอยู่กับกิจวัตรประจำวันของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการตามโลกออนไลน์ โดยในปีนี้ยังคงเชื่อว่าจะนำมาซึ่งโมเดลทางด้านธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ที่แปลกใหม่และหลากหลายยิ่งขึ้น
3. สตาร์ทอัพด้านบริการซอฟต์แวร์และการบริหารจัดการองค์กรทางออนไลน์ (Enterprise) สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ ถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต ซึ่งสอดคล้องไปกับการเติบโตของภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ดำเนินอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก อาทิ ระบบบัญชีออนไลน์ ระบบเสนอราคาซื้อขายสินค้า หรือระบบสำหรับการบริหารจัดการคลังสินค้าหรือร้านอาหาร โดยทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมานี้มีสัดส่วนร้อยละ 32.0 ร้อยละ 22.7 และร้อยละ 16.0 ตามลำดับ (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในปี 2559 ที่ผ่านมานั้น กสอ. ได้ผลักดันและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการใหม่กว่า 2,500 ราย ในจำนวนนี้สามารถก่อตั้งเป็นธุรกิจได้ถึง 790 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจด้วยไอเดียใหม่ ๆ และอยู่ในกระแสความต้องการของตลาดในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่ากลุ่มดังกล่าว ยังประสบปัญหาในด้านการเขียนแผนจำลองธุรกิจ การเสนอแนวคิดต่อแหล่งทุน การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ การหาผู้ร่วมลงทุน การระดมทุน และการหาทุนแบบเงินให้เปล่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โดยปัญหาที่สำคัญเหล่านี้ กสอ. ได้นำมาวิเคราะห์และเร่งให้บริการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ด้วยโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม กิจกรรมเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี กิจกรรมเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC)และการเรียนรู้เริ่มต้นธุรกิจผ่าน www.NEClearning.com เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2560 ก็ยังคงเป็นอีกปีที่ กสอ. จะให้การพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ โดยมีรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนา ประกอบด้วย 1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการจัดให้มีกิจกรรมนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ (Pitching) เพื่อแสวงหาโอกาสทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2) การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยการส่งเสริมความรู้และทักษะ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ หรือการฝึกอบรม 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดให้มีพื้นที่ทำงานและการแบ่งบันความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน Co-Working Spaceเพื่อเป็นสถานที่แก่ผู้ประกอบการได้เข้ามาใช้บริการและพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นต้น โดยตั้งเป้าให้การส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวนี้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่า (Angel Fund) โดยได้รับความร่วมมือจาก บมจ.เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมการนำเสนอแนวคิดต่อแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ ภายใต้ 2 แนวคิด คือ 1. Thailand 4.0 เน้นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม แบ่งกลุ่ม อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีอาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุขและเทคโนโลยีการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์อัจฉริยะ กลุ่มดิจิทัล เป็นต้น ส่วนแนวคิดที่ 2. Energy Managementเกี่ยวกับเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การเก็บพลังงาน และการหมุนเวียนพลังงานหรือพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย กสอ. จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ การเข้าร่วม Business Camp และการฝึกทักษะการนำเสนแนวคิด (Pitching) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้และฝึกทักษะวิธีการนำเสนออย่างมืออาชีพ หลังจากนั้นผู้สมัครจะทำการนำเสนอแผน/แนวคิดทางธุรกิจต่อ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ได้รับเงินทุนสนับสนุน ต่อไป ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ประกอบการใหม่และกลุ่มสตาร์ทอัพที่สนใจ สามารถสมัครร่วมโครงการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ - 19 พฤษภาคม 2560 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4570-4 หรือ เข้าไปที่http://nec.dip.go.th