กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สสว.
ในโอกาสที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเน้นว่า อาเซียนได้มีการจัดทำแผนปฎิบัติการส่งเสริม SMEs และธุรกิจรายย่อยมาแล้วถึง 3 ฉบับร่วมกันในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในฉบับแรกอาเซียนได้ระบุให้ทุกประเทศเร่งจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริม SMEs และสถาบันการเงินเพื่อ SMEs ฉบับที่ 2 เน้นการสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถต่างๆ ขององค์กรส่งเสริม SMEs เพื่อให้บริการกับธุรกิจ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนฉบับที่ 3 หรือฉบับปัจจุบัน เน้นมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ SMEs ในภูมิภาคสามารถแข่งขันได้ในระดับระหว่างประเทศ และสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจที่สามารถใช้หรือสร้างนวัตกรรมเองได้ด้วย
ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ของอาเซียนมาโดยตลอด และในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อย ผ่านโครงการและกองทุนประชารัฐ เพื่อพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการ SMEs และขนาดย่อยเต็มพื้นที่ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาที่ยังมีความตื่นตัวในการทำธุรกิจให้สามารถกลับไปตั้งต้นทำธุรกิจในภูมิลำเนาได้ ในส่วนของธุรกิจรายเล็กและรายย่อยในภาคเกษตรนั้น ไทยก็ได้พยายามพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรกรอัฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาช่วยให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพื่มสูงขึ้น และเกษตรกรเหล่านี้จะเป็นผู้ที่สามารถนำรายได้มาสู่ท้องถิ่นในที่สุด และมีส่วนช่วยให้การปรับโครงสร้างภาคเกษตรของไทยสัมฤทธิผลมากขึ้น
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทยในการประสานงานกับเจ้าภาพการประชุม กล่าวว่า สสว. จะหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนเพื่อหามาตรการมุ่งส่งเสริมธุรกิจรายย่อยให้สามารถขยายช่องทางด้านการตลาดได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ และโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ไทยร่วมมือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนคณะทำงานด้าน SMEs ของอาเซียนอยู่ คือ อีคอมเมอร์ซ ซึ่งจะเริ่มต้นจากการนำสินค้ารายย่อยไปแสดงในเวบไซด์ของอาเซียน ซึ่งสสว. เป็นผู้ดูแลอยู่ และขั้นต่อไปจะทำการโปรโมทให้มีการซื้อขายได้จริง นอกจากนั้น จะต้องมีการพัฒนาระบบจัดส่งสินค้า ซึ่งยอมรับว่าประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่ก้าวหน้าในเรื่องนี้ การขนส่งยังมีต้นทุนสูงและเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้าอีคอมเมอร์ซ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของไทยได้ตระหนักถึงประเด็นข้อนี้และอยู่ในระหว่างการแก้ไข และอยู่ในระหว่างร่วมบูรณาการเพื่อช่วยกันปรับปรุง โดยธุรกิจขนาดย่อยเหล่านี้มีสัดส่วนประมาณ 90 เปอร์เซนต์จาก จำนวน SMEs ทั้งหมดในอาเซียน และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคการผลิต อันได้แก่ ภาคการค้า บริการ และเกษตร
ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนกำลังเสนอผลักดันให้เกิดโครงการที่ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจขนาดเล็กในอาเซียน ขณะเดียวกันไทยก็ได้สร้างความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชนรายใหญ่ และกิจการขนาดเล็ก รวมถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคในลักษณะพี่ช่วยน้อง โดยเฉพาะมาตรการภาครัฐที่ใช้จูงใจให้เอกชนรายใหญ่ช่วยเหลือรายเล็กในลักษณะการผ่อนปรนภาษีหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เอกชนรายใหญ่นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาให้กิจการเล็กๆ ด้วย เพระ SMEs มีบทบาทสำคัญไม่เพียงแต่แค่มิติทางเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงมิติทางสังคม เพราะมีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากประเทศอาเซียนสามารถดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้มีความมั่นคงแข็งแกร่งได้ ก็เท่ากับช่วยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของและลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียนในภาพรวม
สามารถรับชมวิดีโอ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ที่ :
https://www.facebook.com/attanisa.changchaitum/videos/1306958376067599/