กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กรมประมง
จากกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ซึ่งได้รับผลกระทบหลังจากที่ภาครัฐได้วางมาตรการล้อมกรอบให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันการค้ามนุษย์และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งการกำหนดระยะเวลาการออกเรือ และการคุมเข้มลูกเรือที่เป็นแรงงานบนเรือประมง ในพื้นที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมถึงการจัดระเบียบเรือประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ในเขตพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ นั้น
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงและปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการโดยเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในประเด็นข่าวดังกล่าว
ที่ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของภาครัฐ ทางกรมประมงขอชี้แจง ดังนี้
? การกำหนดระยะเวลาในการทำประมง เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการประมงทะเลที่ยั่งยืน ให้มีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและสมดุลกับธรรมชาติ โดยมีการวิเคราะห์ฐานข้อมูลจำนวนเรือและเครื่องมือประมงทะเลทั้งหมดที่ทำการประมงอยู่จริง และข้อมูลสถิติปริมาณการจับสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากแต่ละเครื่องมือย้อนหลังไม่น้อยกว่า 10 ปีติดต่อกัน นำมาคำนวณหาความสามารถในการจับสัตว์น้ำของเครื่องมือประมงแต่ละชนิดต่อหน่วยการลงแรงประมง หรือเรียกเป็นวิชาการว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (Catch per unit effort : CPUE) มีหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ กิโลกรัมต่อวัน ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องมือและประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำของเรือขนาดต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องมือนั้น ๆ จากนั้นใช้สมการที่เรียกว่าฟ็อกซ์โมเดล (Fox model) ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับของนานาประเทศในการคำนวณหาปริมาณการจับสัตว์น้ำที่ระดับการลงแรงประมงที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ "ระดับผลจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) ซึ่งเป็นปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน จากตัวเลขดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาตินำมากำหนดปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงสุดเพื่อใช้ในการออกใบอนุญาตให้ต่ำกว่าค่า MSY 10 % ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่เนื่องจากการขออนุญาตทำการประมงในปี 2559 มีเรือที่มาขอทำการประมงมากกว่าปริมาณสูงสุดที่คณะกรรมการฯ ได้จัดสรรไว้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตให้กับเรือประมงได้ทั้งหมด จึงมีการกำหนดจำนวนวันที่ให้เรือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำของเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ฝั่งทะเลอ่าวไทย เครื่องมืออวนลาก จำนวน 220 วันต่อปี อวนล้อมจับ 220 วันต่อปี และอวนล้อมจับปลากะตัก 235 วันต่อปี ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน เครื่องมืออวนลาก จำนวน 250 วันต่อปี อวนล้อมจับ 235 วันต่อปี และอวนล้อมจับปลากะตัก 205 วันต่อปี ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชาวประมงและแบ่งปันทรัพยากรประมง ชาวประมงจึงสามารถจัดสรรเวลาในการออกเรือไปทำการประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
? ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงจากการจัดทำเอกสารที่เข้มงวด กรมประมงได้มีการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) สำหรับแรงงานต่างด้าว เพื่อเป็นการคัดกรองแรงงานป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานที่ผิดกฎหมาย พร้อมเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในการจัดระเบียบแรงงานภาคประมง โดยตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2559- 27 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีแรงงานเข้าจัดทำหนังสือคนประจำเรือแล้วทั้งสิ้น 46,904 ราย สำหรับในการขึ้นทะเบียนนั้น แรงงานสามารถเลือกนายจ้างได้ตามความสมัครใจถึง 3 ราย และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ส่วนนายจ้างหากประสงค์จะเปลี่ยนแรงงานบนเรือก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดตรังมีการออกหนังสือคนประจำเรือรวมจำนวน 875 ราย ที่ทำงานบนเรือประมงจำนวน 149 ลำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เรือประมงพาณิชย์บางส่วนขาดแคลนแรงงานประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ เกิดจากอาชีพทำการประมงเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำกัน ส่วนแรงงานต่างด้าวก็มีการขาดแคลนในภาคประมงสะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี นายจ้างหรือผู้ประกอบการจะต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างหรือสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆ เพราะเป็นการแข่งขันในระหว่างธุรกิจด้วยกัน
? การจัดระเบียบเรือประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ : ตามพระราชกำหนดการประมง 2558 ได้กำหนดให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอสเป็นเรือประมงพื้นบ้าน และเรือประมงขนาดมากกว่า 10 ตันกรอสเป็นเรือประมงพาณิชย์ โดยเรือประมงพาณิชย์(ขนาดมากกว่า 10 ตันกรอสขึ้นไป) ทุกลำจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และจะต้องทำประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
สำหรับกรณีที่ชาวประมงในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับความเดือดร้อนถูกจับกลางทะเล นั้น เหตุเกิดจากที่มีเรือประมงจำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นเรือประมงที่มีขนาด 16.49 ตันกรอส และ 28.3 ตันกรอส ซึ่งถูกจัดเป็นเรือประมงพาณิชย์ เข้าไปทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนติดตาในเขตพื้นที่ 3 ไมล์ทะเล โดยอ้างมติจากการประชุมคณะกรรมการประมงจังหวัดสมุทรปราการครั้งที่ 1 /2559 วันที่ 7 ก.ค. 59 ณ ศาลากลาง จังหวัดสมุทรปราการว่าสามารถทำการประมงในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยมติดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ ประกอบกับพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 39 กำหนดห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ขนาดเรือตั้งแต่ 10.00 – 29.99 ตันกรอส) ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง (3 ไมล์ทะเล) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวประมงดังกล่าว กรมประมงจึงเสนอให้จังหวัดสมุทรปราการเชิญประชุมคณะกรรมการประมงชายฝั่งอีกครั้ง เพื่อปรับลดแนวเขตทะเลชายฝั่งใหม่ เพื่อเสนอให้กรมประมงดำเนินการออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป
ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรสัตว์น้ำนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นหากไม่มีการออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ทรัพยากรก็มีแต่จะร่อยหลอไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไปบ้าง แต่ภาครัฐก็ไม่ได้มองข้ามและพยามยามให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ภาคการประมงของไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้ทั้งในด้านของเศรษฐกิจและความยั่งยืนของทรัพยากร