กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อความนิยมชมชอบกลุ่มเน็ตไอดอลซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 28 เมษายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,153 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตได้ทำให้เกิดกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "เน็ตไอดอล" (Net Idol) ซึ่งมาจากคำในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่ดารา นักร้อง หรือนักแสดง ซึ่งเผยแพร่กิจกรรม การแสดง หรือผลงานต่างๆของตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้ามาติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเน็ตไอดอลหลายคนมีชื่อเสียงจนได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในเวลาต่อมา โดยกลุ่มเน็ตไอดอลเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มแม่บ้านที่เผยแพร่กิจกรรมประจำวันของตน ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาและมีการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นส่งผลให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้จำนวนเน็ตไอดอลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นกลุ่มเน็ตไอดอลเกิดขึ้นมาได้ประมาณ 6 ถึง 7 ปีมาแล้วโดยเริ่มจากการเผยแพร่ภาพกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหน้าตาดีผ่านเว็ปไซด์ของกลุ่มวัยรุ่นจนเป็นที่นิยมติดตาม ต่อมาจึงมีกลุ่มคนที่เริ่มเผยแพร่กิจกรรม การแสดง หรือผลงานต่างๆของตนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้นซึ่งมีหลายคนที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไปให้ความสนใจเข้าไปติดตามเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีกลุ่มคนอีกส่วนหนึ่งที่พยายามเผยแพร่กิจกรรม การแสดง หรือผลงานของตนซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมความรุนแรงหรือส่อไปในทางลามกอนาจารเพื่อทำให้ตนเองได้รับความสนใจติดตามจากผู้อื่นจนได้รับการเรียกให้เป็นเน็ตไอดอล ด้วยเหตุดังกล่าวนักวิชาการ พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้คนทั่วไปได้เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความห่วงใยถึงปัญหาดังกล่าวเนื่องจากอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อความนิยมชมชอบกลุ่มเน็ตไอดอล
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ถึง 25 ปีซึ่งแบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.82 และเพศชายร้อยละ 49.18 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับเน็ตไอดอล กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.67 มีความคิดเห็นว่ากลุ่มเน็ตไอดอลหมายถึงบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ดารานักร้องนักแสดงอาชีพซึ่งเผยแพร่กิจกรรม/ผลงาน/การแสดงต่างๆสู่สาธารณะผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจนได้รับความนิยมชมชอบจากกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต รองลงมาระบุว่าหมายถึงบุคคล/กลุ่มบุคคลที่นำเสนอจุดเด่นของตนเองซึ่งแตกต่างจากผู้อื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตติดตามชมเป็นจำนวนมากซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.29 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.61 มีความคิดเห็นว่ากลุ่มเน็ตไอดอลคือบุคคล/กลุ่มบุคคลที่มีจุดเด่นในตัวเอง เช่น หน้าตา การแสดง คำพูด การแต่งตัว ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชื่นชอบ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.93 และร้อยละ 6.5 มีความคิดเห็นว่ากลุ่มเน็ตไอดอลคือบุคคล/กลุ่มบุคคลที่นำเสนอการแสดง การแต่งตัว กิจกรรม ที่ไม่สามารถเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะทั่วไปได้ให้ผู้อื่นได้รับชมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และบุคคล/กลุ่มบุคคลไม่ว่าจะเป็นดารานักร้องนักแสดงหรือผู้คนทั่วไปที่ได้รับความนิยมชื่นชอบจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ตามลำดับ
ในด้านความรับรู้และพฤติกรรมการติดตามกลุ่มเน็ตไอดอล กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.04 ระบุว่าตนเองเคยได้ยิน/รู้จักชื่อกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่าเน็ตไอดอลอย่างน้อย 1 คน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.96 ระบุว่าไม่เคยได้ยิน/รู้จักเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.44 ระบุว่าตนเองนิยมติดตามกิจกรรม/การแสดง/ผลงานของเน็ตไอดอลเฉพาะที่เป็นคนไทย รองลงมาระบุว่าติดตามทั้งคนไทยและคนต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 32.3 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.93 ระบุว่าตนเองติดตามเฉพาะเน็ตไอดอลที่เป็นคนต่างชาติ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.33 ไม่นิยมติดตามเลย
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการติดตามกิจกรรม/การแสดง/ผลงานของกลุ่มเน็ตไอดอลนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 50.48 มีความคิดเห็นว่าการติดตามกิจกรรม/การแสดง/ผลงานของกลุ่มเน็ตไอดอลที่เผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้กลุ่มวัยรุ่นใช้เวลาอยู่กับสมาชิกในครอบครัวน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.59 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่กิจกรรม/การแสดง/ผลงานของกลุ่มเน็ตไอดอลผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้กลุ่มวัยรุ่นใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.34 มีความคิดเห็นว่าการแสดงพฤติกรรมต่างๆของกลุ่มเน็ตไอดอลที่เผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตมีอิฐธิพลเพียงพอที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.27 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันกลุ่มเน็ตไอดอลสามารถช่วยทำให้กลุ่มวัยรุ่นลดความเสี่ยงในการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น การมั่วสุมเสพยา การยกพวกทำร้ายร่างกาย การหนีเรียน เป็นต้น ได้ และกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.74 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันกลุ่มเน็ตไอดอลสามารถช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศในด้านต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว การแต่งตัว อาหาร เป็นต้น ได้
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.95 เชื่อว่ามีผู้ที่เผยแพร่การแสดง/การแต่งตัว/คำพูดที่หวือหวาส่อไปในทางลามกผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำให้ตนเองกลายเป็นเน็ตไอดอลที่ได้รับความนิยมชมชอบ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.81 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันกลุ่มเน็ตไอดอลไม่จำเป็นจะต้องใช้การแสดง/การแต่งตัว/คำพูดที่หวือหวาส่อไปในทางลามกเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่ติดตามผลงานผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น