กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประดิษฐ์อุปกรณ์ผลิตน้ำบริโภคแบบพกพา แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค สามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำดิบที่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ รวมไปถึงพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติ มีขนาดเล็ก สะดวกแก่การพกพา ผลิตน้ำบริโภคที่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคขององค์กรอนามัยโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ เล่าว่า เมื่อปี 2554 เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งตอนนั้นน้ำดื่มขนาดแคลนมาก ตนเองจึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ผลิตน้ำขึ้นมาใช้เพื่อนำน้ำมาบริโภค ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง จึงได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยมี รศ.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ โดยอุปกรณ์ผลิตน้ำแบบพกพา สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค นำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำดิบ น้ำประปา น้ำผิวดิน ผลิตน้ำสำหรับบริโภคได้ 1.0 ลิตรต่อครั้ง น้ำดื่มที่ได้ตามมาตรฐานน้ำดื่มขององค์กรอนามัยโลก
หลักการทำงานของอุปกรณ์ผลิตน้ำบริโภคแบบพกพา แบ่งออก 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนการแยกอนุภาคแขวนลอยที่ปนเปื้อนในน้ำดิบโดยอาศัยหลักการก่อตะกอนทางเคมี 2. ขั้นตอนการกรองน้ำด้วยเยื่อกรองเมมเบรนและอาศัยแรงดันจากชุดสร้างแรงดัน วิธีใช้เครื่อง เติมน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เติมสารก่อตะกอนในปริมาณที่เหมาะสม จากนั้นกวนเร็ว 1-2 นาที กวนช้า 10 นาที ทิ้งให้ตกตะกอน 30 นาที และปล่อยส่วนที่เป็นตะกอนทิ้ง โดยหลักการเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการประยุกต์กระบวนการผลิตน้ำสะอาดโดยใช้การก่อตะกอนและการตกตะกอนโดยใช้สารเคมี เมื่อทำการแยกตะกอนของสิ่งปนเปื้อนในน้ำแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีส่วนประกอบที่ใช้กระบวนการกรองน้ำด้วยเยื่อกรองเมมเบรนและชุดสร้างแรงดัน ทำให้สามารถผลิตน้ำที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้บริโภคได้
โดยจุดเด่นของผลงานมีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร สูง 32 เซนติเมตร
น้ำหนักผลงาน 1 กิโลกรัม สะดวกต่อการพกพา "ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสามารถตอบสนองการใช้งานในสภาวะการเกิดอุทกภัย หรือภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภค" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้นำอุปกรณ์ผลิตน้ำแบบพกพา เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี ๒๕๖๐(Thailand Inventors' Day 2017) ณ Event Hall 102 - 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าเครื่องดังกล่าว นำไปพัฒนาต่อยอด ผลิตและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ มีจำนวนน้อยชิ้นและขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากมีการผลิตโดยใช้วัสดุอื่นๆ เช่น พลาสติก ที่มีราคาต้นทุนต่ำลง และผลิตในจำนวนมากสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
ในขณะทางมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงดำเนินการจดสิทธิ์บัตร ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ 085-4279666 โทร.0-2549-4694 ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคมนี้ ผลงานดังกล่าวจะนำไปจัดแสดงในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๐" Thailand Research Expo 2017 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ อีกด้วย