โรงงานยาสูบ ย้ายรง.สู่เชียงใหม่-สระบุรี เพิ่มกำลังผลิตได้ 4 หมื่นมวนต่อปี

ข่าวทั่วไป Thursday October 5, 2000 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--โรงงานยาสูบ
สุชน ผอ.ยาสูบคนใหม่ เผยแผนการย้ายโรงงานจากถนนพระราม 4 สู่เชียงใหม่ และสระบุรี เอารายได้ที่เจียดให้รัฐ 50% มาลงทุน โดยใช้เวลา 6 ปี ใช้งบทั้ง 2 แห่งเกือบ 2 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิต 4 หมื่นมวนต่อปี โรงงานเชียงใหม่รองรับตลาดใหญ่ทางภาคอีสาน เหนือ และตะวันออก ส่วนสระบุรีรองรับตลาดในกรุงเทพฯ และภาคใต้ มีแผนรับจ้างผลิตบุหรี่นอก หลายประเทศรุมจีบแล้ว
นายสุชน วัฒนพงษ์พานิช ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวภายหลังการเข้ารับตำแหน่งถึงแผนการย้ายโรงงานยาสูบว่า ที่ดินที่ตั้งโรงงานยาสูบบริเวณถนนพระรามที่ 4 นั้น ได้มีการทูลเกล้าถวายไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2534 และพื้นที่บางส่วนได้ทำเป็นสวนเบญจกิติ แต่ที่ไม่สามารถย้ายออกไปได้ เนื่องจากรัฐบาลยังขาดงบประมาณที่จะอุดหนุน จึงได้ชะลอการย้ายออกไปมาตั้งแต่ปี 2540 สมัยที่ นายสุเกียรติ เสถียรไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ถูกร้องเรื่องสภาวะแวดล้อมมาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องเตรียมแผนเอาไว้แล้ว ทั้งนี้เพราะเมื่อถึงเวลาย้ายจริงๆ จะได้ทันการณ์
“แผนปัจจุบันเราเลือกที่จะย้ายไปจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีที่ดินอยู่แล้ว และยังจะอยู่ใกล้แหล่งผลิตใบยา ชาวไร่ใบยาเองจะได้เห็นอุตสาหกรรมบุหรี่ด้วย นอกจากนั้น ทำเลแห่งนี้ยังจะเป็นศูนย์กลางในการส่งออกบุหรี่ หรือรับจ้างประเทศเพื่อนบ้านทำการผลิตบุหรี่ได้ด้วย อาทิ จีน และเวียดนาม”
โรงงานที่จะไปสร้างใหม่ตั้งอยู่ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีทดลอง และโกดังเก็บผลิตภัณฑ์ มีเนื้อที่ 350 ไร่ หากโรงงานแห่งนี้ก่อสร้างได้แล้วเสร็จ คาดว่า จะมีกำลังการผลิต 30,000 มวนต่อปี และสามารถทำงานได้วันละ 2 กะ อย่างไรก็ตาม หากมีงานเพิ่มเข้ามา โรงงานแห่งนี้สามารถทำได้ถึง 3 กะต่อวัน
นายสุชนกล่าวต่อว่า นอกจากมีแผนจะสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังมีแผนการย้ายโรงงานขนาดเล็ก โรงที่ 3,4 และ 5 ออกไปอยู่รอบนอกเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยมีการเล็งพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมสระบุรี 3 โรงงานนี้คาดว่า จะมีกำลังการผลิต 10,000 มวนต่อปี ซึ่งขั้นตอนการผลิตทุกอย่างจะเหมือนกับโรงงานที่เชียงใหม่ เพียงแต่อาจจะมีการแย่งแยกตลาดกัน โรงงานที่สระบุรีอาจจะจับตลาดในกรุงเทพฯ รวมถึงภาคกลาง และภาคใต้ ตลาดที่เหลือก็จะให้โรงงานที่เชียงใหม่รับผิดชอบไป ส่วนงบค่าก่อสร้างนั้น โรงงานที่สระบุรีต้องใช้งบลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่โรงงานที่เชียงใหม่ใช้งบ 13,000 ล้านบาท
สำหรับโรงงานที่เชียงใหม่ หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนงบการลงทุนปี 2544 ซึ่งคาดว่า 4 ปี จึงสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งคาดว่า ในปี 2548 คงทำการผลิตได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และคาดว่า คงจะได้รับการเห็นชอบ ทั้งนี้เพราะเงินที่จะนำมาลงทุนในครั้งนี้มาจากรายได้ที่ทางโรงงานยาสูบส่งให้กับทางภาครัฐ ซึ่งคาดจะใช้งบส่วนนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม กล่าวคือ โรงงานยาสูบต้องส่งเงินรายได้ให้กับภาครัฐถึง 88% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อต้องการใช้งบนี้มาลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ก็แบ่งส่วนนี้มาเพียง 50% ส่วนที่เหลือ 38% ส่งเข้ากระทรวงการคลังเหมือนเดิม
“ซึ่งกระทรวงการคลังก็ต้องพิจารณาสภาพของเราด้วยว่า ไม่ได้ก่อหนี้ ถ้าไม่ได้ใช้เงินลงทุน ก็จะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ แต่หากได้ย้ายออกไป จะลดต้นทุนการผลิตได้ ผลกำไรก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ล้านบาท”
นายสุชนกล่าวต่อว่า การย้ายโรงงานในครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อพนักงานมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันโรงงานยาสูบมีพนักงานอยู่ประมาณ 5,000 คน แยกเป็นพนักงานฝ่ายผลิตจริงๆ 1,800 คน แต่กว่าโรงงานจะก่อสร้างได้แล้วเสร็จคงใช้เวลา 4-5 ปี เมื่อถึงช่วงนั้น ก็จะมีพนักงานเกษียณอายุประมาณ 600 คน ทำให้พนักงานเหลืออยู่เพียง 1,200 คน แต่เมื่อโรงงานขนาดเล็กที่สระบุรีก่อสร้างได้แล้วเสร็จ พนักงานจำนวนนี้ก็จะย้ายไปประจำที่นั่น ส่วนโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่คงต้องฝึกอบรมคนใหม่ขึ้นมา และบางส่วนอาจจะเอาพนักงานที่ประจำอยู่ในเชียงใหม่แล้วมาร่วมงานด้วย โรงงานแห่งนี้ นอกจากจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศแล้ว ยังมีการรับจ้างผลิตให้บุหรี่ต่างประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีติดต่อเข้ามาหลายรายแล้ว อาทิ อิตาลี เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ในอดีตทางโรงงานยาสูบเคยมีแผนจะย้ายไปอยู่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ดินของที่ราชพัสดุ แต่ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวปลูกข้าวอยู่ อย่างไรก็ตาม หากย้ายไปต้องใช้งบในการลงทุนค่อนข้างสูง เพราะที่ดินเป็นที่ลุ่ม ต้องถมดินเป็นจำนวนมาก เพื่อวางรากฐานให้แข็งแรง นอกจากนั้นแหล่งน้ำก็ไม่เอื้ออำนวย ต้องลงทุนหาแหล่งน้ำเองไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท และเนื่องจากรอบข้างเป็นทุ่งนา จึงไม่สามารถทำงาน 2 กะได้ เพราะแมลงจะเข้ามารบกวนมาก พนักงานก็เดินทางไปมาไม่สะดวก
สำหรับบุหรี่ที่จำหน่ายอยู่ในตลาดขณะนี้นั้น ในปี 2542 มีการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศเข้ามา 4,822 ล้านบาท และบุหรี่ที่ผลิตได้เองในประเทศ 31,343 ล้านบาท คิดเป็นตลาดรวม 36,166 ล้านบาท ส่วนในปี 2543 นี้ คาดว่า จะมีบุหรี่นอกเข้ามา 4,692 ล้านบาท บุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบ 36,749 ล้านบาท คิดเป็นตลาดรวม 35,441 ล้านบาท--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ