กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--NBTC Rights
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 12/2560 วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560 มีวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาเรื่อง บจ. ไทม์ ดอทคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ขออนุญาตควบรวมกิจการด้วยวิธีการเข้าซื้อหุ้น (Acquisition) ของ บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น โดยภายหลังควบรวมกิจการจะส่งผลให้บริษัทไทม์ฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2 ราย คือ บจ. เคิร์ซ และบริษัทซิมโฟนี่ฯ ซึ่งบริษัทเคิร์ซฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารแบบเชื่อมต่อจุดต่อจุด บริการด้านเครือข่ายให้กับลูกค้าองค์กรธุรกิจในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสงและบริการโครงข่ายส่วนตัวเสมือนจริงที่ใช้ Internet Protocol (IP VPN) ขณะที่บริษัทซิมโฟนี่ฯ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงภายในประเทศ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเอง และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 เพื่อให้บริการวงจรเช่าระหว่างประเทศส่วนบุคคล (IPLC) และวงจรเช่าระหว่างประเทศส่วนบุคคลแบบเสมือน (IP-VPN) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองด้วย
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของ บจ. ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ที่ปรึกษาอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวเป็นการควบรวมทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน กล่าวคือ แบบแนวตั้ง บริษัทซิมโฟนี่ฯ เป็นธุรกิจต้นน้ำ ส่วนบริษัทเคิร์ซฯ เป็นธุรกิจปลายน้ำ จึงอาจเป็นไปได้ว่าบริษัทเคิร์ซฯ สามารถควบคุมต้นทุนในการให้บริการถูกกว่าผู้ให้บริการที่ไม่มีการควบรวม เช่น จ่ายค่าเช่าใช้โครงข่ายในราคาที่ถูกกว่าผู้ให้บริการรายเล็กรายอื่น เป็นต้น ส่วนแบบแนวนอน ทั้งสองบริษัทเป็นผู้ให้บริการค้าปลีกอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่ทั้งหมดนี้เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดทั้งของบริษัทเคิร์ซฯ และบริษัทซิมโฟนี่ฯ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก จึงส่งผลต่อค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาด (HHI) หลังควบรวมกิจการไม่มากนัก และไม่สามารถกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ หรือขัดขวางการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทไทม์ฯ (ในฐานะผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทเคิร์ซฯ) และบริษัทซิมโฟนี่ฯ จะเป็นการควบรวมระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งอาจส่งผลต่อการแข่งขันของตลาดที่เกี่ยวข้องไม่มากนัก แต่ข้อวิเคราะห์ของ บจ. ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาดูจะยังขาดความชัดเจนและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในบางประเด็น เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมายว่าบริษัทไทม์ฯ มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการถือหุ้นไขว้ระหว่างผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่อยู่ในตลาดที่เกี่ยวข้อง หรือในส่วนของการวิเคราะห์ตลาดค้าส่งบริการ บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่าบริษัทเคิร์ซฯ ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการขายส่งบริการ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบริษัทเคิร์ซฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ที่ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตในตลาดขายส่งบริการด้วย ในประเด็นนี้ที่ปรึกษาอิสระก็ไม่ได้วิเคราะห์และนำเสนอ กทค. เพื่อประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่าในการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) การกระจุกตัวของตลาดขายปลีกบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่นั้น ทั้งบริษัทเคิร์ซฯ และบริษัทซิมโฟนี่ฯ เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เน้นให้บริการแก่องค์กรธุรกิจเป็นหลัก ไม่ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการประเภทครัวเรือน ดังนั้น การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเฉพาะกลุ่มองค์กรธุรกิจเป็นหลัก ในการวิเคราะห์ จึงควรต้องพิจารณาส่วนแบ่งตลาดและดัชนี HHI เฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการแก่องค์กรธุรกิจด้วย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าการควบรวมกิจการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการกระจุกตัวของตลาดดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากวาระที่น่าสนใจเรื่องการขอควบรวมกิจการระหว่างบริษัทไทม์ฯ และบริษัทซิมโฟนี่ฯ แล้ว ยังมีวาระอื่นๆ ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดกรณี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ค้างชำระค่าปรับทางปกครอง การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บจ. เดอะไวท์สเปซ รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมประจำเดือนมีนาคม 2560 โดยพบว่าไม่มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเลย ขณะที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียงเรื่องเดียว แน่นอนว่าหลักฐานทางสถิติที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวแทบไม่มีประโยชน์ อีกทั้งยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและบุคคลากรในการดำเนินงาน จึงเกิดคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ กทค. ต้องพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ให้เด็ดขาดเสียที