กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมปศุสัตว์
โฆษกกรมปศุสัตว์ ขอหยุดส่งต่อข้อความเท็จหมู-ไก่เป็นเอดส์ ชึ้เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี 2551 และไม่เป็นความจริงสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรไทย ย้ำดูแลควบคุมการผลิตสัตว์ตามมาตรฐานอย่างใกล้ชิด แนะผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK"
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียที่ระบุให้งดกินหมูไก่เป็ด อ้างว่าที่นครปฐมมีหมูไก่เป็นโรคเอดส์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นข้อความเก่าที่ส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2551 และกลับมาส่งอย่างแพร่หลายในแอพพลิเคชั่นไลน์เมื่อปี 2557 แล้วยังวนส่งต่อกันทุกปี จากการรายงานของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมในพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่ถูกพาดพิงในข้อความและจังหวัดต่างๆ ภายใต้การควบคุมของกรมปศุสัตว์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีจังหวัดไหนที่พบกรณีโรคเอดส์หมูและไก่ปรากฏขึ้นมาก่อน ที่สำคัญกระบวนการผลิตสัตว์ของไทยทั้งหมูและสัตว์ปีกเป็นไปตามมาตรฐานสากล ผู้บริโภคจึงสามารถบริโภคหมูไก่ได้อย่างปลอดภัย และควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านจำหน่ายที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย "ปศุสัตว์ OK" หรือผู้ผลิตที่มีเครื่องหมายการค้าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
"ขอย้ำว่าเรื่องหมู-ไก่เป็นเอดส์ นี้เป็นเรื่องเก่าและไม่เป็นความจริง จึงไม่ควรแชร์กันอีกต่อไป เพราะจะกระทบเกษตรจำนวนมาก ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข่าวลือ และเชื่อมั่นในมาตรการของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมกำกับดูแลฟาร์ม เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ ทั้งหมูและสัตว์ปีกที่ปราศจากโรคติดต่อ และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทุกคน ที่สำคัญขอให้เลิกส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ซึ่งถือว่าผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่มีโทษทั้งจำทั้งปรับ" โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าว
ทั้งนี้ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดนครปฐม และฟาร์มทั่วประเทศที่ดำเนินการภายใต้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ รวมถึงโรงฆ่าสุกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ยังคงดำเนินการอยู่บนมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยมีพนักงานตรวจสอบโรคสัตว์ทั้งก่อนและหลังการฆ่า นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการติดตามสถานการณ์ระบาดของโรคทั้งในคนและสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่พบสถานการณ์โรคที่ผิดปกติแต่อย่างใด./