กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผยความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ต้นปีทรงตัว แม้ความเชื่อมั่นด้านรายได้เริ่มดีขึ้น แต่ SME มองอนาคตต้นทุนสูงขึ้น กระทบกับผลประกอบการในปีนี้
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี" (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 1/2560 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,429 รายทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.6 ทรงตัวจากระดับ 40.0 ในไตรมาสก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 49.4 ลดลงจากระดับ 50.9 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวลดลง
"ผู้ประกอบการ SME มองเศรษฐกิจต้นปี 2560 ทรงตัวจากปลายปีก่อน โดยความมั่นใจด้านรายได้ใกล้เคียงกับผลสำรวจไตรมาสก่อน ผลจากช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมส่งผลต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี แต่ประเด็นที่สำคัญในไตรมาสนี้คือ ผู้ประกอบการกลับมาให้ความสำคัญเรื่องของต้นทุนอีกครั้ง โดยความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงปัจจัยต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น" นายเบญจรงค์กล่าว
เมื่อพิจารณาผู้ประกอบการแยกเป็นภูมิภาคพบว่า พื้นที่ส่วนกลางของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออก ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านรายได้ทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แม้ผู้ประกอบการจะมีความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันเพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นด้านรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งอาจสะท้อนความไม่มั่นใจของการฟื้นตัวในรายได้ โดยเฉพาะในภาคที่เกี่ยวกับการเกษตร
"แม้ในเกือบทุกภูมิภาคจะมีสัญญาณความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้ากลับลดลงจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้ประกอบการกลับมาให้ความสำคัญกับภาวะต้นทุนของธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับประเด็นรายได้ของธุรกิจเพียงอย่างเดียว"
ด้านผลการสำรวจปัจจัยที่ผู้ประกอบการทั่วประเทศกังวลในการดำเนินธุรกิจพบว่า ร้อยละ 57.0 กังวลปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อในพื้นที่และการแข่งขัน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 66.2 ของไตรมาสก่อน ด้านความกังวลเรื่องต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.1 จากร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อน โดยผู้ประกอบการมองว่า ต้นทุนสินค้าขาย ค่าจ้างแรงงาน ราคาน้ำมัน และดอกเบี้ย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความกังวลเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มเป็นร้อยละ 16.9 จากร้อยละ 11.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา
"ผู้ประกอบการ SME มองว่า ราคาวัตถุดิบ/สินค้าขาย ค่าจ้างแรงงาน ราคาน้ำมันและพลังงาน ต้นทุนทางการเงิน เริ่มมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลให้การบริหารจัดการธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้น เช่น การจัดหาวัตถุดิบ/สินค้าขาย การบริหารสต็อกสินค้า ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจ SME ในปีนี้อาจจะยังไม่ราบรื่นนัก" นายเบญจรงค์สรุป