กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิด 3 ศูนย์ พัฒนาชุดการสอนเทคโนโลยียานยนต์ชั้นสูง ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ
ดร.นภดล กลิ่นทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติจากชุดฝึกแล้วยังไม่พอ ถ้าอยากให้นักศึกษา คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้จริง ต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยว่าด้วยเรื่องบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยทางสาขาวิชาได้ดำเนินการจัดตั้ง 3 ศูนย์ (ภายใต้ศูนย์ Excellence center) ได้แก่ 1.ศูนย์บริการรถยนต์ราชมงคลธัญบุรี จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ตรวจเช็ครถยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น การลบและอ่านข้อมูลตลอดจนการวิเคราะห์ปัญหารถยนต์ 2. ศูนย์ทดสอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับประเทศไทยก้าวไปสู่ 4.0 ซึ่งเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อย่างน้อยต้องผ่านการทดสอบและรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานขั้นต้นต้องมี 1 ใบ อู่ซ่อมรถยนต์ต้องเข้าทดสอบให้ผ่านมาตรฐานที่กำหนด โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีอยู่ทั่วประเทศ แต่อู่ซ่อมรถยนต์ที่เปิดให้บริการทั่วประเทศมีจำนวนมาก ดังนั้นศูนย์ทดสอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นสามารถรองรับอู่ซ่อมรถยนต์ ที่จะเข้ามาทดสอบกับทางคณะฯ โดยมีกรรมการจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นกรรมการร่วมกับกรรมการของคณะฯ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ
ทางคณะมีการเตรียมความพร้อมอาจารย์ทั้งหมดของสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดยไปอบรมและต้องเข้าทดสอบมาตรฐานที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ทางคณะยังเป็นแหล่งวิชาการด้านการฝึกอบรมให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้เห็นรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์ฯที่จัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะศูนย์บริการรถยนต์ที่นักศึกษาจะได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ทำจริง เป็นการฝึกให้นักศึกษามีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ต่อหน้าที่ของตนเอง และสามารถนำทักษะที่ได้ลงมือทำไปใช้สอนกับนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาหลักสูตรนี้ เป็นนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรม 5 ปี ในปีสุดท้ายต้องออกฝึกสอน และ 3. ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยียานยนต์ชั้นสูง สำหรับใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษา ซึ่งอุปกรณ์บางส่วนในการฝึกเป็นของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมอบให้ ทำให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง นอกจากนั้นยังให้บริการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยียานยนต์ให้กับอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป
นักศึกษาที่ลงปฏิบัติงานเป็นนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 4 โดยมากจะเห็นว่าในการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่นักศึกษามักจะได้เรียนและฝึกกับชุดฝึกเครื่องยนต์ติดต้งบนแท่น เปลี่ยนมาเป็นการฝึกจากเครื่องมือที่ทันสมัยกับรถยนต์จริง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริง นักศึกษามั่นใจและมีความสุข ซึ่งมั่นใจว่าจะได้นำความรู้ไปใช้จริง การดำเนินงานทั้ง 3 ศูนย์ สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย "บัณฑิตนักปฏิบัติ" โดยปรับการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาเป็นฐานสมรรถนะด้านต่างๆเช่นด้านอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ไฟฟ้ารถยนต์ เครื่องยนต์หัวฉีดเบนซินเครื่องยนต์คอมมอนเรล ครอบคลุมครุภัณฑ์ที่ทางคณะได้จัดเตรียมไว้และยังครอบคลุมทุกวิชาตามหลักสูตรฐานสมรรถนะของสำนักงานการอาชีวศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนสาขาช่างยนต์ โดยนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาสามารถเป็นครูสอนนักศึกษาระดับ ปวช./ปวส.ได้เลยทันที
"แม็ต" นายนฤวัฒน์ บัญสว่าง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ได้เรียนรู้ความรู้จากศูนย์ เนื่องจากการฝึกและเจอปัญหาจริง ได้ลงมือแก้ปัญหา ความรู้ที่ได้สามารถนำไปต่อยอดและใช้ในชีวิตประจำวันได้ ฝึกความผิดชอบต่อหน้าที่ด้วย เวลาที่ไม่ได้เรียน ถ้ามีเวลาว่างจะมาช่วยอาจารย์ปฏิบัติงาน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
เช่นเดียวกับ "ต๋า" นายฝันเด่น บุญยัษเฐียร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าว่า มีความรู้ทางด้านการซ่อมรถ เพราะว่า ใกล้บ้านมีอู่ให้บริการ โดยตนเองจะเข้าไปเรียนรู้ที่อู่ซ่อม และตัดสินใจเข้ามาศึกษาทางด้านนี้ อยากเป็นครูสอนนักศึกษา สำหรับศูนย์ที่ทางคณะจัดตั้งขึ้น เป็นการฝึกอาชีพนักศึกษาได้ดีมาก มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะว่า รถยนต์มีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ผู้สนใจสามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยราคาจะถูกกว่าท้องตลาดแน่นอนเปิดวันจันทร์-วันศุกร์ 8.00-16.00 หยุดเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์