กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมาตรา 84 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง และกรมประมงได้ประกาศกฎกระทรวง เรื่องการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดให้ท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนต้องยื่นหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยอนุโลมให้ยื่นหนังสือรับรองฯ ได้ ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้จดทะเบียนทั้งนี้จะครบกำหนดการอนุโลมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
โดยล่าสุดขณะนี้กรมประมงได้ดำเนินการตรวจมาตรฐานสุขอนามัยท่าเทียบเรือที่ต้องตรวจสุขอนามัยทั้งสิ้น 829 ท่า ผลการดำเนินการล่าสุดขณะนี้ดำเนินการตรวจแล้ว 597 ท่า แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือประเภท A1 ท่าเทียบเรือประมงซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการรัฐเจ้าของท่าเรือ เป้าหมาย 25 ท่า ตรวจแล้ว 23 ท่า ผ่านเกณฑ์ 11 ไม่ผ่านเกณฑ์ 5 รอผลการประเมิน 7 ท่าเทียบเรือประเภท A2 ท่าเทียบเรือประมงสำหรับเรือประมงไทย ซึ่งสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าบางส่วนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อการส่งออก เป้าหมาย 131 ท่า ตรวจแล้ว 121 ผ่านเกณฑ์ 70 ไม่ผ่านเกณฑ์ 28 รอผลการประเมิน 23 ท่าเรือประเภท B ท่าเทียบเรือประมงสำหรับเรือประมงไทย ที่มีเรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป เข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า เป้าหมาย 313 ตรวจแล้ว 234 ท่า ผ่านเกณฑ์ 119 ไม่ผ่านเกณฑ์ 37 รอผลการประเมิน 78 ท่าเรือประเภท C ท่าเทียบเรือประมงสำหรับเรือประมงไทย ที่มีเรือขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอสขึ้นไป เข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่า เป้าหมาย 360 ตรวจแล้ว 219 ท่า ผ่านเกณฑ์ 32 ไม่ผ่านเกณฑ์ 15 รอผลตรวจ 172
สำหรับในส่วนของท่าเทียบเรือที่ไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัย หากไม่สามารถปรับปรุงมาตรฐานและไม่ยื่นหนังสือรับรองสุขอนามัยฯ ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จะต้องถูกถอนทะเบียนท่าเทียบเรือ ส่งผลให้เรือประมงไม่สามารถใช้ท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าประมงได้
ขณะเดียวกัน ยังมีท่าเทียบเรือที่ยังไม่มายื่นขอรับการรับรองสุขอนามัยหรืออยู่ระหว่างรอตรวจสุขอนามัย มีจำนวนทั้งสิ้น 232 ท่า กระทรวงเกษตรฯ จึงอยากขอความร่วมมือให้ท่าเทียบเรือที่ยังไม่ผ่านสุขอนามัยเร่งรัดปรับปรุงสุขอนามัยก่อนที่จะหมดเวลา 1 ปี นับจากที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมประมงรวมถึงท่าเทียบเรือที่ยังไม่มายื่นขอรับการรับรองสุขอนามัยให้เร่งขอการรับรองจากกรมประมงโดยเร็ว ณ กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง และศูนย์วิจัยและตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวมถึงขอให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำซื้อสัตว์น้ำจากท่าเทียบเรือที่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัยซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงที่ถูกกฎหมายเป็นไปตาม พรก.ประมง 2558
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อยกระดับสินค้าสัตว์น้ำของไทยให้มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพราะ ท่าเทียบเรือประมง คือ ปราการด่านแรกที่จะรองรับผลผลิตสัตว์น้ำจากเรือประมง และเข้าสู่กระบวนการการคัดแยก ขนย้าย ซื้อขาย ก่อนขนถ่ายและจำหน่ายไปยังผู้บริโภค ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งการดำเนินการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในสินค้าสัตว์น้ำของไทยแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ