กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
เผยผลโครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า อบต. อบจ.และเทศบาล มีความก้าวหน้าในการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการเงิน และการติดตามประเมินผลโครงการ แต่ยังต้องปรับปรุงในด้านความพร้อมรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง
นายอำพล ทิมาสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการตามมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ มพช. ว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุน 2,424.14 ล้านบาท และว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการติดตามและประเมินผล ซึ่งจากการประเมินเทศบาลจำนวน 20 แห่ง อบต.จำนวน 24 แห่งและ อบต.จำนวน 2,416 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาขีดความสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเงิน และการติดตามประเมินผลโครงการ
ผลการประเมินขีดความสามารถพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาที่สำคัญตามลำดับ คือการเงิน (เกินร้อยละ 90) การายงานติดตามด้านระบบข้อมูล ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการจัดทำบริการสาธารณะ และด้านการรองรับการถ่ายโอนภารกิจ(เฉลี่ยร้อยละ 50)
ในส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านต่างๆซึ่งได้ประมวลเทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละประเภทของท้องถิ่น พบว่า รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ส่วนใหญ่ประชาชนจะมีส่วนร่วม 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1.การเสนอความต้องการ 2.การกำหนดโครงการชุมชน 3.การวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนชุมชน 4.การวางแผนปฏิบัติงานของโครงการ และ 5.การดำเนินกิจกรรมของโครงการ
นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของการฝึกอบรมและพัฒนาคน โดยสมควรจัดฝึกบุคลากรและกรรมการองค์กรให้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน เพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆให้มากขึ้น และในด้านการบริหารจัดการ ควรมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด ควรขยายเวลาการจ้างงานให้ต่อเนื่อง และส่วนกลางสมควรถามความต้องการบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่นด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร.279-8001,616-2270-1--จบ--
-อน-