กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วโลกในปี พ.ศ. 2558 มีประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียประมาณ 214 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 438,000 คน โดยในประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียประมาณ 24,000 ราย ถึงแม้องค์การอนามัยโลกมีนโยบายกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญคือการที่เชื้อมาลาเรียดื้อยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ไพริเมธามีน คลอโรควิน เมโฟลควิน และกลุ่มยาอาร์ทิมิซินิน โดยเชื้อก่อโรคที่รุนแรงและพบเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีจำนวน 2 สายพันธุ์ คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (P. falciparum) และ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (P. vivax) ดังนั้นการออกแบบและสร้างยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อมาลาเรีย จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการดื้อยาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยไทยนำโดย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ไบโอเทค สวทช. และ Medicines for Malaria Venture (MMV) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรและเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนายารักษามาลาเรียระดับโลก ได้ค้นพบยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 ซึ่งเป็นสารต้านมาลาเรียตัวแรกที่นักวิจัยไทยออกแบบและสังเคราะห์ขึ้นเอง มีประสิทธิภาพ และความจำเพาะสูงในการฆ่าทั้งเชื้อมาลาเรียดื้อยาและไม่ดื้อยาในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง ยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองเลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดจนความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ อย่างละเอียดในระดับพรีคลินิกที่ได้มาตรฐานแล้ว ปัจจุบันยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 อยู่ระหว่างการดำเนินการทดสอบครั้งแรกในมนุษย์ (First in Human, FIH) ซึ่งเป็นการทดสอบระดับคลินิกขั้นที่ 1 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการทดสอบระดับคลินิกขั้นที่ 2 ภายในปี 2561 ต่อไป
ดร.เดวิด เร็ดดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MMV ให้ข้อมูลว่า "MMV และไบโอเทค/สวทช. มีความร่วมมือและทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2546 โดยยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 ได้ถูกค้นพบด้วยความร่วมมือระหว่าง MMV, ไบโอเทค, มหาวิทยาลัยโมนาช และวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน จากนั้นได้ถูกพัฒนาต่อในระดับพรีคลินิกโดยความร่วมมือระหว่าง MMV และไบโอเทค โดย ณ ปัจจุบัน P218 กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบครั้งแรกในมนุษย์ ซึ่งกำลังจะเสร็จในอีกไม่นานนี้"
ผู้ส่งข่าว
งานประชาสัมพันธ์ ไบโอเทค สวทช.
โทร. 02-564-6700 ต่อ 3324, 3330
โทรสาร 02-564-6572