กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--จุฬาฯ
สืบเนื่องจากการที่หน่วยฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพและการศึกษาต่อเนื่อง ภาควิชาเภสัชเวท และภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมวิชาการหัวข้อ "การพัฒนาสมุนไพรที่ใช้ในโรงพยาบาล" เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้อง 502 ตึก 80 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการอภิปรายหัวข้อ "บทบาทเภสัชกรกับสถานการณ์สมุนไพร" ผศ.สำลี ใจดี จากภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยา รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สมุนไพรไทยที่ใช้เป็นยาหรือกระบวนการบำบัดรักษานั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "ทวิภพ" คือมิติการพัฒนาทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออกโดยเภสัชกรที่จบจากสถาบันการศึกษาของไทยทั้ง 12 แห่ง เรียนรู้ด้วยรากฐานทางวิชาการอย่างตะวันตก ในขณะเดียวกันสมุนไพรก็เป็นภูมิปัญญาแบบตะวันออกที่ต้องอาศัยความเข้าใจและพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง
ฉะนั้นเภสัชกรแผนปัจจุบันจึงยังไม่มีเท่าทันสถานการณ์สมุนไพรทั้งด้านองค์ความรู้ สูตร ตำรับ และรูปแบบของการแพทย์แผนไทย ทั้งยังไม่เข้าใจถึงเหตุผล แนวทางการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านที่ใช้รักษากันมาตั้งแต่ดั้งเดิม มีเภสัชกรน้อยคนที่ไปเรียนรู้ ไปทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ดั้งเดิมของตนเองหรือแบบอย่างตะวันออก เภสัชกรแผนปัจจุบันจึงรู้เฉพาะการใช้สมุนไพรที่พัฒนาตามอย่างตะวันตก แต่ถ้าเป็นแนวการใช้สมุนไพรแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมจะไม่เข้าใจ เภสัชกรแผนปัจจุบันจึงต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับความแตกต่างกันทางแนวความคิดและขวนขวายในการเรียนรู้เชื่อมประสานความร่วมมือกันพัฒนาภูมิปัญญาไทย
ผศ.สำลี ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อบทบาทของเภสัชกรกับการพัฒนาสมุนไพรว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษานั้นจำเป็นต้องมีบทบาทในการเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนขององค์ความรู้นั้นควรมีการปรับกระบวนการศึกษาเภสัชกรรมแผนไทยที่ยังขาดอยู่ โดยพัฒนาให้คณะเภสัชศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ยาแผนไทย ซึ่งแม้ว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้มีการเปิดการเรียนการสอนและร่างหลักสูตรการแพทย์แผนไทยขึ้นมา แต่จากการสำรวจขั้นแรกพบว่าเป็นการดำเนินการตามแนวความคิดแบบตะวันตกมากว่าแบบดั้งเดิม
ส่วนเภสัชกรโรงพยาบาลนั้น ขั้นแรกต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้เรื่องยาแผนไทย การยอมรับในองค์ความรู้ คุณภาพ ราคา ถ้าโรงพยาบาลไม่ได้ผลิตเองก็ต้องแสวงหาความรู้ที่สามารถไปอธิบายให้แพทย์เข้าใจเพื่อนำไปสู่การใช้บำบัดรักษาผู้ป่วย ขั้นต่อไปคือ ทำอย่างไรที่จะสามารถผลิตเองได้ ซึ่งจะเป็นการพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน ความต้องการในขั้นนี้คือการที่โรงพยาบาลระดับต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์มีบทบาทในการผลิตและวิจัยยาจากสมุนไพรมากขึ้น เพื่อเป็นการพึ่งตนเองและเป็นฐานข้อมูลในการนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับเภสัชกรชุมชนก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนเลือกใช้ยาสมุนไพรของไทยที่ผลิตขึ้นในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของเภสัชกรอุตสาหกรรมก็ต้องพัฒนาด้านคุณภาพรูปแบบตลอดจนการพัฒนามาตรฐานสมุนไพรเพื่อให้สามารถส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศได้--จบ--
-นศ-