กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
หลายๆ คนคงเคยได้ยินหรืออาจจะรับประทานอาหารเสริมที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีชื่อว่าโอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 มาแล้ว ซึ่งกรดไขมันกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานในด้านการมองเห็น การพัฒนาเซลล์ประสาทและสมองของมนุษย์ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และควบคุมระดับไขมันในเลือด และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและหน้าที่ของเกล็ดเลือด จึงเป็นไขมันที่มีประโยชน์ในการลดอันตรายของโรคทางเดินหายใจ โรคไขมันในเส้นเลือด และโรคหัวใจ
ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้าในรูปแบบอาหารเสริมเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมันตับปลา หรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดพืช อย่างเช่น อีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose) เรฟซีด (Rapeseed) ซึ่งนอกจากจะมีการนำมาใช้เป็นสารเสริมในอาหารมนุษย์ เช่น การเติมดีเอชเอ (DHA; Docosahexaenoic acid) หรือ อีพีเอ (EPA; Eicosapentaenoic acid) ลงไปในนมผงเด็ก ยังมีการนำไปใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ เช่น ปลาแซลมอน หรือ ไก่ไข่ ทำให้มีการสะสมโอเมก้าในเนื้อสัตว์หรือในไข่ไก่ เพื่อเป็นการเสริมสารอาหารให้แก่ผู้ที่รับประทาน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีคลังจุลินทรีย์ที่เก็บรวบรวมจุลินทรีย์จากแหล่งต่างๆ ไว้มากกว่า 80,000 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่างๆ ได้ ตลอดจนการให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีการบริหารจัดการชีววัสดุ ข้อมูล และกฎหมายชีวภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน เพื่อสร้างเสริมศักยภาพที่สำคัญของประเทศในการเป็นผู้นำอาเซียนในด้านทรัพยากรชีวภาพ
ดร.พนิดา อุนะกุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพของรา หน่วยวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและชีววัสดุ ไบโอเทค กล่าวว่า "เชื้อ Aurantiochytrium limacinum เป็นจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณป่าโกงกางและป่าชายเลน ซึ่งนักวิจัยไปเก็บตัวอย่างและนำมาเก็บรวบรวมและรักษาไว้ที่คลังจุลินทรีย์ของไบโอเทค โดยจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า-3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DHA ได้ในปริมาณมาก ซึ่งจากการพิสูจน์แล้ว พบว่าเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่ใช้ผสมในนมผงทารก และใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ ซึ่งถ้านำมาทดแทนการนำเข้ากรดไขมันโอเมก้า-3 จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย"
คุณนุชจรี พิสมัย นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สถาบันการจัดการเทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตร สวทช. เสริมว่า "ที่ผ่านมา สวทช. ได้มีการนำงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรมาโดยตลอด ซึ่งจากงานวิจัยจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า-3 นี้ก็มีแนวคิดที่จะนำมาเป็นสารเสริมในอาหารเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพื่อทำให้กุ้งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้าที่เป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งก็ได้บริษัท ภูเก็ตกรีนชริมป์ จำกัด ร่วมนำไปทดสอบผสมกับอาหารเพื่อใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งในฟาร์ม"
ด้าน คุณศักดิ์สหกรณ์ คงสมุทร เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเจ้าของไอทีฟาร์ม กล่าวว่า "บริษัท ภูเก็ตกรีนชริมป์ จำกัด เป็นผู้ดูแลด้านการตลาดให้กับฟาร์มในกลุ่มไอทีฟาร์มในจังหวัดภูเก็ต พังงา ได้นำจุลินทรีย์สร้างกรดไขมันโอเมก้า-3 มาผสมกับอาหารเลี้ยงกุ้งในสัดส่วนจุลินทรีย์ 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แล้วนำไปให้กุ้งกินก่อนการจับกุ้งจากบ่อเป็นเวลา 45 วัน พบว่าสัดส่วนของ DHA และ EPA ในตัวกุ้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่ากุ้งที่กินอาหารปกติ"
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยเลี้ยงกุ้งขาวเป็นหลัก ตลาดกุ้งกุลาดำจึงปรับตัวไปเป็นตลาดพรีเมี่ยม เนื่องจากคุณลักษณะในด้านรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากกุ้งขาว จึงยังมีความต้องการบริโภคของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ ซึ่งปัจจุบันกุ้งกุลาดำที่ขายปลีกในประเทศไทยมีน้อยมาก การสร้างจุดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกุ้งกุลาดำนับเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น "กุ้งกุลาดำโอเมก้า" นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการผลิตกุ้งพรีเมี่ยมซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริโภคกุ้งของกลุ่มผู้รักสุขภาพ
ผู้ส่งข่าว
งานประชาสัมพันธ์ ไบโอเทค: โทร 02-564-6700 ต่อ 3324, 3329-31