กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
"อภัยภูเบศร" โต้โผจัดมหกรรมสุขภาพอาเซียนครั้งแรก ระดมแพทย์พื้นบ้าน แบ่งปันประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งแพทย์ดั้งเดิม หมอยาสมุนไพร พิธีกรรมสุขภาพ มนต์รักษาเหนือธรรมชาติ จาก 9 ประเทศ ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ชูปรัชญาตะวันออกสู้แพทย์แผนตะวันตก เตรียมเสนอผนึกกำลังรวมศาสตร์อาเซียน รักษาภูมิปัญญาไม่ให้ขาดวิ่น
นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ประจำชาติของคนไทย ที่มีการสั่งสมความรู้มานานนับตั้งแต่มีคนไทย ซึ่งทั่วโลกนั้นมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่จะมีศาสตร์การดูแลสุขภาพเป็นของตนเอง โดยนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น อันได้แก่ สมุนไพร นำมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟูสภาพ โดยในแต่ละชุมชนจะมีหมอพื้นบ้านที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพของชุมชน และนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ก็มีการแพทย์ดั้งเดิมที่ใช้ในการดูแลสุขภาพมาก่อนการแพทย์แผนตะวันตก โดยการแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียนล้วนมีที่มาร่วมกัน ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างประเทศจีนและอินเดียที่มีวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพที่ฝังรากลึกมายาวนาน และการมีทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกัน
"ทำให้การแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียนมีแนวคิดและวิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกัน การดูแลสุขภาพที่เน้นการป้องกัน ด้วยอาหาร การออกกำลังกายที่ปรับให้เข้ากับธรรมชาติ การทำสมาธิและปฏิบัติตามแนวทางศาสนาที่ตนนับถือ การรักษาแบบองค์รวม นอกจากวิธีการรักษาที่มีการใช้ยาจากสมุนไพร และหัตถการอื่นๆ แล้ว ยังมีการดูแลสภาพจิตใจ และสังคมด้วยการใช้หมอพื้นบ้านเป็นศูนย์กลาง ที่จะประกอบพิธีกรรมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ป่วยและชุมชน วิธีการรักษาที่เน้นการพึ่งตนเองในระดับชุมชน โดยใช้ทรัพยากรที่พื้นที่มี เช่น การนวด การประคบ การย่าง การใช้ยาจากสมุนไพร เป็นต้น " ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าว
นายแพทย์จรัญ กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแพทย์แผนไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้แล้ว การพัฒนาการบริการและผลิตภัณฑ์จากการแพทย์แผนไทยยังจะสามารถทำให้เกิดการพึ่งตนเองได้ทั้งในระดับประชาชน ชุมชนและประเทศ และอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลอีกด้วย จึงได้จัดงานมหกรรมสุขภาพอาเซียนขึ้น เพื่อรวบรวมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ดั้งเดิมในประเทศอาเซียน อันจะนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชน พัฒนาการบริการและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมในอาเซียน โดยการจัดงานจะมีขึ้นในระหว่าง 14-19 พฤษภาคม 2560 ซึ่งทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้เชิญ เครือข่ายหมอยาพื้นบ้านอาเซียน 9 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย รวมทั้งสิ้น 42 คน
ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดงาน มหกรรมสุขภาพอาเซียนว่า จะเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤษภาคม โดยจะมีการพบปะเครือข่ายหมอพื้นบ้านประเทศอาเซียน และจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และบรรยายพิเศษ อาทิ พิธีกรรมและการแพทย์เหนือธรรมชาติ โดย นายธีรธรรมะพัฒน์ พุ่มไชย ผู้รู้ด้านศาสนาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เอเชีย รวมทั้งแลกแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษา จากหมอพื้นบ้านประเทศอาเซียน ทั้ง 9 ประเทศ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับ วัฒนธรรมที่มีร่วมกันของอาเซียน ในมิติของการ " ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู" โดยมีการจัดนิทรรศการ ครัวอาเซียน ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมการกิน อาหารเป็นยา ทั้งข้าว ผัก ของหมักดอง และ เครื่องเทศ โดยในส่วนนี้จะมีการจัดแสดง และให้ชิมอาหารอาเซียนด้วย เช่น เทมเป้ ผักจ๊อก จามู เมี่ยงคำ และยำใบชา เป็นต้น พร้อมชมการสาธิตเมนูจากสมุนไพรที่ใช้ในอาเซีย น เช่น เมนูจากรางจืด-ราชายาแก้พิษ เมนูจากบัวบก-บำรุงสมอง เมนูจากขมิ้นชัน-ป้องกันมะเร็ง เมนูจากเพชรสังฆาต-บำรุงกระดูก นอกจากนี้ยังมีโซนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแพทย์พื้นบ้านอาเซียน เช่น การแพทย์เหนือธรรมชาติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมต่าง ๆ การแพทย์เชิงระบบ โดยมีการใช้ทฤษฎีธาตุ การดูแลกระดูกและกล้ามเนื้อ การนวดรักษา การแพทย์ประสบการณ์ พบการรักษาของหมอพื้นบ้าน ในหลากหลายรูปแบบ และการดูแลหลังคลอด ของอาเซียน รวมถึงการจัดแสดงสมุนไพรที่ใช้ร่วมกันในสวนสมุนไพรอาเซียน
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจว่า จะมีการหารือกันในเครือข่ายประเทศอาเซียนถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญา โดยการรวมพลังในการขึ้นทะเบียน สมุนไพร ภูมิปัญญา ร่วมกัน ซึ่งคงต้องหารือกันในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร และโดยจุดแข็งของแพทย์แผนตะวันออก คือ การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างเป็นองค์รวมโดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้มีเพียงแพทย์ตะวันออกเท่านั้น และกำลังจะขาดหายไปจากการเข้ามาของแพทย์แผนตะวันตก ดังนั้น เครือข่ายอาเซียนจึงควรผนึกกำลังเพื่ออนุรักษ์เอาไว้ ไม่ให้ภูมิปัญญารุ่นปู่ย่าตายายขาดวิ่น
สำหรับท่านที่สนใจสามารถร่วมติดตามชมถ่ายทอดสดกิจกรรมได้ทาง เฟสบุ๊คสมุนไพรอภัยภูเบศร ในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2560 นี้