กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด โครงการฝึกอบรมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะระดับกลางน้ำให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลตาลเดี่ยว ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. จำนวน 100 คน ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน หวังกระตุ้นให้ชุมชนนำแนวคิด/ความรู้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนตำบลตาลเดี่ยว เกิดเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคต โดยมีเป้าหมาย เพื่อคัดเลือกและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียว เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้และการนำไปใช้ประโยชน์ วว.ได้นำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ โดยนักวิจัยเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี มาเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะ เมื่อได้ต้นแบบหมู่บ้านสีเขียว จำนวน 1 แห่ง แล้ว วว. ผนึกกำลังกับจังหวัด, ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี, อปท.ในพื้นที่ และหน่วยงานเครือข่าย บริษัทภาคเอกชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ จัดทำขยายผลเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม (วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมสวนริมเขา จังหวัดสระบุรี)
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ วว. จังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะ ความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้งสามหน่วยงานในการจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการจัดการขยะที่ยั่งยืน ทั้งด้านการจัดทำศูนย์รวบรวมขยะภายในชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มขยะชุมชนแต่ละประเภทนำไปสู่การจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืนในที่สุด
"...การบูรณาการดำเนินงานนี้ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่ถูกต้อง และเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ดีให้แก่ผู้นำชุมชน ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ กำหนดให้มีการควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และขยะที่เกิดจากการผลิตและบริโภค เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน โดยศึกษาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยใช้หลักการ 3Rs และขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายบัณฑิต เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งในอีกหลายๆ พื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าสะสมและขยะใหม่ ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือการจัดการขยะชุมชนแบบไม่ถูกวิธี โดยการกองทิ้งกลางแจ้ง หนึ่งในบริบทนโยบายจังหวัดสะอาด 3Rs ประชารัฐ ต้องมีการจัดการขยะชุมชนโดยการมีส่วนร่วมจากหมู่บ้านหรือชุมชน โดยการคัดแยกขยะที่ต้นทางด้วยหลักการ 3Rs โดยเน้นเป้าหมาย คือ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าระบบการจัดการขยะ ทุกภาคส่วนในชุมชนมีการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกวิธี และมีการจัดตั้งจุดรวมขยะอันตราย ดังนั้นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาด 3Rs คือ การใช้องค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อลดปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่ เพิ่มสัดส่วนขยะรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้การฝึกอบรมในครั้งนี้เกิดเป็นรูปธรรม
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย นับเป็นปัญหาสำคัญและทวีความรุนแรง จากปัญหาดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงได้อนุมัติแผนที่นำทางการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงระเบียบปฏิบัติในการจัดการขยะในประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการจัดการขยะตกค้างสะสมหรือขยะเก่า นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องและตกค้างสะสมในพื้นที่วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ และได้มีการกำหนดแผนงานลงสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อคัดแยกขยะที่ต้นทาง ในรูปแบบการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาด
ทั้งนี้ วว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการผลักดันงานด้าน วทน. ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยปัญหาขยะชุมชนจัดเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการแก้ไขและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม วว. ได้เสนอโครงการ "การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการ บูรณาการอย่างยั่งยืน" ซึ่งเป็นโครงการขยายผลในการดำเนินงานทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรม ทั้งนี้การขับเคลื่อนโครงการให้สามารถประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักต่อการคัดแยกขยะชุมชนที่ต้นทางโดยใช้ หลักการ 3Rs เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน และขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม แนวทางหนึ่งในการส่งเสริมผลสำเร็จของโครงการร่วมกับความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์
โครงการฝึกอบรมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะระดับกลางน้ำให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลตาลเดี่ยว จำนวน 100 คน ดังกล่าว ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก วว. และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ได้แก่ 1.ความท้าท้ายในการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร 2.นโยบายการขับเคลื่อนจังหวัดสะอาดและการจัดการขยะที่ต้นทางโดยท้องถิ่นด้วยหลักการ 3Rs 3.สถานการณ์ขยะชุมชนและปัญหามลพิษจากขยะ 4.ธนาคารขยะและการรับทราบปัญหาและแนวทางการจัดการขยะชุมชนระดับหมู่บ้าน 5.การเพิ่มมูลค่าขยะโดยใช้ วทน. ในมิติต่างๆ เช่น การจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรม การทำถ่านหอมและเปลือกไข่ไล่มดและยุง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นต้น