กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 เวลา 07.00 น. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวนันทินี ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร นางสาวฉมาพันธ์ สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทวัน สุวรรณสถิตย์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน นางสาวพรพิมล ศิริการ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมในการซ้อมใหญ่ โดยขณะนี้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่จะถึงนี้ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ มีความงดงาม และมีความหมายอย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ในปีพุทธศักราช 2560 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล และถือเป็น 'วันเกษตรกร' ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันพฤหัสบดีที่ 11พฤษภาคม 2560 ในการนี้ เวลาประมาณ 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีพืชมงคล ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม พระราชทาน พระธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธี คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 ฤกษ์ไถหว่านระหว่างเวลา 08.19 - 08.59 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร ให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้สืบทอดมายาวนานตั้งแต่ ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และได้มีการจัดงานเต็มรูปแบบตามประเพณีครั้งสุดท้ายในปี 2479 แล้วว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น "วันเกษตรกร" ประจำปีด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯ ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย