กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ประกาศปรับลดขั้นตอนการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับรองให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตฐานเกษตรอินทรีย์สากลแล้ว แต่ประสงค์จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ตราออร์แกนิคไทยแลนด์ (Organic Thailand) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพียง 5 รายการ แทนที่จะต้องตรวจใหม่ทั้งหมด 15 รายการ ทั้งนี้ การเร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองให้มีประสิทธิภาพ โดยจะลดขั้นตอนการทำงาน และถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองให้เอกชนดำเนินการมากขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งรัดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ขอรับการรับรองให้มากขึ้น
นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า การลดขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเพิ่มเติม เรื่อง 1) เอกสารสิทธิ์ ทุกแปลงที่ขอการรับรองจากทางราชการ ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่าทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่สาธารณะ 2) การทำแนวกันชนกรณีพื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชที่มีความสูงกั้นสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจปลิวมาจากแปลงข้างเคียง หรือทำคันดิน กั้นสิ่งปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำหรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถป้องกันสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจมาทางน้ำ ทางอากาศได้ 3) ตรวจน้ำใช้ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน จะตรวจวิธีการในการลดการปนเปื้อนสารเคมี/โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนมา 4) ตรวจสอบให้มั่นใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารอินทรีย์อื่นที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์มเป็นอินทรีย์จริง และ 5) ตรวจสอบว่าไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560
สำหรับการเพิ่มความสามารถในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้รวดเร็วและทันกับความต้องการ ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยทยอยถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยตรวจรับรองเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำลังศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ การสนับสนุนงบประมาณการตรวจรับรองที่เหมาะสมที่จะขับเคลื่อนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ และให้บริการการฝึกอบรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000) ของกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถแสดง เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินค้าว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ได้เลือกซื้อสินค้าตามคุณภาพที่ตนเองต้องการ ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการขอรับการรับรองสามารถขอรับการตรวจรับรองได้จากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยตรวจรับรองเอกชน (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)