กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รมช.ชุติมา ลุยพื้นที่อีสาน จี้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร หลังเกษตรกรขานรับสมัครร่วมโครงการแปลงใหญ่ข้าวกว่า 40 แปลงรวมพื้นที่กว่า 3.4 หมื่นไร่ พร้อมจับมือพาณิชย์จังหวัด ธกส. และสหกรณ์วางแผนตลาดก่อนเริ่มต้นผลิต แถมเล็งต่อยอดแปลงที่เข้มแข็งสู่แปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์
วันนี้ (6 พ.ค.60 ) นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ ณ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อำเภอพระยืนจำกัด ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น และประชุมคณะกรรมการซิงเกิลคอมมานด์ติดตามงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร และการเกษตรอินทรีย์ จ.ขอนแก่น และ ชัยภูมิ ณ สำนักชลประทานที่ 6 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า การลงพื้นที่ภาคอีสานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวมาก และปริมาณผลผลิตข้าวมากเช่นกัน โดย จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกข้าว 2.4 ล้านไร่ คิดเป็น 58.7% ของพื้นที่เกษตร จ.ขอนแก่น ดังนั้น จึงถือโอกาสชี้แจงเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวที่สมัครเข้าร่วมโครงการในปีนี้จำนวน 44 แปลงใหญ่ พื้นที่ประมาณ 3.4 หมื่นไร่ ที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันเอง จากความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร ภาครัฐโดยทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯจึงต้องเร่งมาวางแผนงานจัดการร่วมกันก่อนเริ่มการเพาะปลูก โดยเฉพาะวิธีการขับเคลื่อนให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง ทั้งส่งเสริมด้านการพัฒนาการผลิตข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวและเครื่องจักรกลการเกษตร มีการถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการตรวจรับรองตรวจคุณภาพ GAP แบบกลุ่ม พร้อมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการ โดยการจัดจ้างผู้จัดการแปลงมืออาชีพเพื่อบริหารจัดการกลุ่ม พัฒนาด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายผลผลิตข้าว โดยให้มีการจัดทำแผนการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการการซื้อข้าว โดยมีกลยุทธ์เชิงรุก คือ มีการจัดเวทีเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างข้อตกลงด้านการตลาดข้าว ตลอดทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐหลายๆ ส่วน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธกส.และกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ หากแปลงใหญ่ข้าว GAP ที่เกษตรกรมีความพร้อมก็จะส่งเสริมสู่แปลงข้าวอินทรีย์ รัฐบาลก็มีโครงการสนับสนุนสำหรับเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาสู่ข้าวอินทรีย์ มีระยะเวลาดำเนินการ 5ปี (2560-2564) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางเป้าหมายเกษตรกร 66,700 ราย พื้นที่ 1ล้านไร่ภายในปี 2564 โดยวิธีดำเนินการ จะรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรที่รวมกลุ่ม 5 คนขึ้นไปมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100ไร่ โดยรัฐจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 15กิโลกรัมต่อไร่ อุดหนุนเงินให้แก่เกษตรกรเพื่อชดเชยรายได้รายละไม่เกิน 15ไร่ๆละ9,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 3ปี ได้แก่ ปีที่ 1 จำนวน 2,000 บาทปีที่ 2 จำนวน 3,000 บาทและปีที่ 3 จำนวน 4,000 บาท เมื่อได้รับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดข้าวอินทรีย์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตลอดจนสนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์แบบกลุ่มและการเชื่อมโยงการตลาดข้าว ผู้แปรรูปและผู้จำหน่ายข้าวอินทรีย์