กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดงานโชว์ผลงาน 500 นวัตกรรมจากเมคเกอร์รุ่นใหม่ในงาน "KMITL Engineering Project Day 2017" โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และรศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี พร้อมเชิญผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมพบปะเมคเกอร์นักประดิษฐ์หนุนแจ้งเกิดสตาร์อัพ รวมพลังประชารัฐสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมพร้อมเปิดเวทีประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017 และประกวด KMITL Pitching ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สจล.
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง (Atchaka Sibunruang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของบุคคลากร และธุรกิจอุตสาหกรรม สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีกรอบยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 6 แผนหลัก ทั้งด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้านแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมชุมชน ความมั่นคงและคุณภาพชีวิต สร้างและสะสมองค์ความรู้ ปรับระบบและบูรณาการงบประมาณวิจัยและนวัตกรรม ด้านพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ด้านปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูประบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งกรอบงบประมาณตามแผนบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรม เรายังได้จัดทำยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Suchatvee Suwansawat) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อนาคตของเยาวชนและประเทศไทยจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เราต้องมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ พัฒนาตนเอง มีการเสริมสร้างศักยภาพพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในสังคม ภาคการศึกษาถือเป็นหน้าที่สำคัญของการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากร เมคเกอร์ และสตาร์ทอัพผู้ประกอบการ อันเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ หลายโครงการที่สจล. ได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ อาทิ โครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup - KITS), โครงการTech Startup Club Hackathon : Smart Living กิจกรรมปั้นสตาร์ทอัพสายเลือดใหม่เข้าสู่ภาคธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น งาน "KMITL Engineering Project Day 2017" ครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมเมคเกอร์คนรุ่นใหม่เพื่อเสริมพลังทัพสตาร์ทอัพของประเทศไทยในอนาคตด้วยนวัตกรรม
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า งาน"KMITL Engineering Project Day 2017" เป็นเวทีแสดงผลงานของเมคเกอร์นักศึกษาคนรุ่นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ จากไอเดียสร้างสรรค์ผสมผสานงานวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีและดิจิตอล สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เสริมสร้างความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้และมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้เมคเกอร์เจ้าของนวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนมาพบปะกันในงานนี้ อันจะเป็นลู่ทางความร่วมมือและต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป
ผลการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2017 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม โดยนำเสนองานเวทีรายละ 15 นาที เพื่อนำเสนอผลงาน 7นาที และตอบคำถามคณะกรรมการ จากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ 5นาที ผลการตัดสิน ดังนี้
รางวัลเหรียญทอง แชมป์ชนะเลิศ คือ GYRO GO เครื่องลดอาการมือสั่นของผู้ป่วยพาร์คินสัน ผลงานของ นายณชล แป้นคุ้มญาติ และ นายวสันต์ ปิ่นณรงค์ จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ สจล. กล่าวว่า "ผู้ป่วยโรคพาร์คินสันทั่วโลก มีประมาณ 5 ล้านคน ปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันยังเป็นการรักษาผู้ป่วยเพื่อประคับประคองอาการ และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เราได้พัฒนา GYRO GO ให้เป็นอุปกรณ์ลดแรงสั่นของมือซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น และสามารถส่งสัญญานการสั่นไปยังแพทย์หรือโรงพยาบาลผ่านบลูทูธสำหรับเป็นข้อมูลการวินิจฉัย
รางวัลเหรียญเงิน คือ SMART CLEANER WITH CO2 DRY ICE ระบบละอองน้ำแข็งแห้งทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลงานของ นายธนพัฒน์ ถาวรวัฒน์สกุล จากหลักสูตรวิศวกรรมเคมี สจล. เขากล่าวว่า "ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำรายได้ให้ประเทศไทย คิดเป็น 20 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด การทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มักใช้น้ำยาสารเคมี (Solvent) ซึ่งมีสิ่งตกค้าง ผลงาน Smart Cleaner With CO2 Dry Iceตอบโจทย์ยุค Industry 4.0 โดยเราได้พัฒนาระบบควบแน่นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นสถานะของเหลว และจะเปลี่ยนเป็นอนุภาคขนาดเล็กมากเมื่อฉีดทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีความละเอียดอ่อนสูงได้อย่างหมดจด ประหยัดพลังงาน และไร้มลพิษ
รางวัลเหรียญทองแดง มี 8 รางวัล ได้แก่ 1. SMART HELMET หมวกนิรภัยอัจฉริยะ 2. เครื่องแช่อิ่มผลไม้สุญญากาศ 3. Heart Mate & Emotional Monitor ระบบติดตามอารมณ์และเฝ้าระวังสัญญาณชีพ 4. บริการฝากเก็บของอัจฉริยะในศูนย์การค้า 5.. แอพพลิเคชั่นระบุตำแหน่งรถโดยสารประจำทาง 6. เครื่องแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวนึ่ง 7. เครื่องทำน้ำอุ่นจากเครืองปรับอากาศ 8. Sheet Pile คิดค้นมาตรฐานสำหรับไซต์ก่อสร้างในชั้นทรายแบบจำลอง พาณิชย์กุล จากหลักสูตรวิศวกรรมโยธา สจล.
ผลการประกวด KMITL Pitching
เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้ ความคิดสร้างสรรค์ 30 %วิธีการนำเสนอผลงาน 30 % ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ 30%ประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม 10%และโครงการนี้มีเงินรางวัลรวม 100,000 บาท ได้แก่รางวัลชนะเลิศ ผลงาน I Get Dorm, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ผลงาน HYDROTEC ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงาน ตลาดออนไลน์ ขายผัก