กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งด้วยระบบรางในอนาคต จะมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น จากนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าพัฒนาด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 อาทิ การวางระบบรถไฟทางคู่ และ ระบบรถไฟความเร็วสูง มจธ.จัดตั้งห้องทดสอบระบบรางตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับอุตสาหกรรม มุ่งมั่นทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง
รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม หรือ KMUTT'S Welding Research and Consulting Center (KINGWELD) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า "ปัจจุบันมีความต้องการซ่อมบำรุงเกี่ยวกับระบบรางรถไฟเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระบบรถไฟของประเทศไทยใช้งานมาหลายสิบปี งานระบบราง (Trackworks) เช่น หมอนรองรางรถไฟ แต่เดิมเป็นหมอนไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนก็ได้เป็นหมอนคอนกรีต
KINGWELD ได้ให้บริการทดสอบวัสดุทางกลทั่วไปตั้งแต่ประมาณ 10 ปีก่อน ในปัจจุบันเริ่มให้บริการงานทดสอบชิ้นส่วนต่างๆของระบบราง เช่น หมอนคอนกรีต ที่จากเดิมจะต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทั้งที่งานมาตรฐานงานของระบบราง และมาตรฐานการทดสอบของระบบราง ที่เป็นงานวิศวกรรมที่คนไทยสามารถทำได้ KINGWELD จึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบระบบราง ผู้ประกอบการสามารถนำงานมาทดสอบที่มหาวิทยาลัย หรือขอคำปรึกษาทีมวิจัยเพื่อออกแบบสร้างอุปกรณ์ทดสอบติดตั้งไว้ที่โรงงานผลิต โดย KINGWELD จะจัดส่งวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการทดสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ปัจจุบัน KINGWELD มีความสามารถให้บริการทดสอบหมอนคอนกรีตสำหรับระบบรางได้เกือบครบทุกหัวข้อ รวมทั้งการทดสอบชิ้นส่วนรางรถไฟ ตามมาตรฐานงานเชื่อมต่อระบบราง อาทิ Flash Butt Welding, Thermit Welding มาตรฐานเครื่องยึดเหนี่ยวราง ทดสอบความต้านทานไฟฟ้า ถือได้ว่า KINGWELD สามารถรับงานทดสอบได้ครอบคลุมทั้งระบบราง โดยทางมหาวิทยาลัยจะออกใบรับรองให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ ผู้ประกอบการที่นำชิ้นส่วนระบบรางมาทดสอบมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการจากประเทศออสเตรเลีย ที่ผลิตชิ้นงานในไทย โดยส่งวิศวกรมาสังเกตการณ์งานทดสอบของศูนย์ฯ
สอดรับกับนโยบายแห่งชาติของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่องการขนส่งระบบรางภายในประเทศ เช่น การวางระบบรถไฟทางคู่ การทำรถไฟความเร็วสูง ที่จำเป็นจะต้องมีงานระบบรางมาเกี่ยวข้อง ในอนาคตศูนย์ตั้งเป้าหมายว่าจะตั้งห้องปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับรองรับอุตสาหกรรมด้านนี้ เพื่อให้บริการ ทดสอบมาตรฐาน พัฒนาบุคลากร งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งราง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตได้เอง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังต้องซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้จากต่างประเทศ
KINGWELD ได้ให้บริการด้านวิชาการเรื่องการซ่อมบำรุง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าบีทีเอส และแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ เป็นต้น
ด้านงานพัฒนาบุคลากร ศูนย์มีหลักสูตรพัฒนาวิศวกร ตั้งแต่ระดับช่าง วิศวกรด้านการซ่อมบำรุงเรื่องระบบรางในบางหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีคณะและภาควิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่มีหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางด้วย มหาวิทยาลัยอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์ระบบราง ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อให้บริการทางวิชาการ วิจัยและพัฒนาระบบรางครอบคลุมได้ทุกเรื่อง
ระบบขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ ระบบราง เพราะรวดเร็ว ปลอดภัย ค่าขนส่งถูก หากระบบขนส่งรางในประเทศพัฒนาและได้มาตรฐาน ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งของอาเซียน