ประชาชน 62.12% ยอมรับเคยแชร์ภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตผ่านโซเชียล ร้อยละ 53.79 ระบุสามารถเป็นอุทาหรณ์ แต่ร้อยละ 75.42 ระบุเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และร้อยละ 74.33 หนุนให้มีบทลงโทษกับผู้แชร์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 9, 2017 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหหว่างวันที่ 1 ถึง 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,188 คน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์จัดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกใช้ในการติดต่อสื่อสารรวมถึงเผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันข้อมูลข่าวสารต่างๆทั้งในรูปของตัวหนังสือ รูปภาพ หรือคลิปวิดิโอ และนับวันความนิยมในการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและเผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร รูปภาพ คลิปวิดิโอไปให้ผู้คนจำนวนมากได้ในเวลาที่รวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ประหยัด แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรูปภาพประเภทหนึ่งที่มีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันกันคือรูปภาพของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยผู้คนที่เผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันหรือเข้ามาดูรูปภาพประเภทดังกล่าวส่วนหนึ่งนิยมเขียนข้อความว่า "ขออโหสิกรรม" ซึ่งการเผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันรูปภาพประเภทดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยผู้คนกลุ่มหนึ่งระบุว่าถือเป็นการเตือนสติและอุทาหรณ์ให้กับผู้คนในการใช้ชีวิต แต่ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและมีความคิดเห็นว่าถือเป็นการไม่ให้เกียรติกับผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตและอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้ ทั้งนี้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่/ส่งต่อ/แบ่งปันรูปภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขควบคุมป้องกันการส่งต่อรูปภาพประเภทดังกล่าว จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.42 และร้อยละ 49.58 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.95 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นคนรู้จัก เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อนฝูง เผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.05 ระบุว่าไม่เคยพบเห็น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.12 ยอมรับว่าตนเองเคยเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.88 ระบุว่าไม่เคยเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 89.31 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆแบบที่ไม่มีการอำพรางภาพผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ของสำนักข่าวต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.69 ระบุว่าไม่เคยพบเห็น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.49 ยอมรับว่าตนเองไม่ทราบว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.51 ระบุว่าทราบ ในด้านความคิดเห็นต่อการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.71 ระบุว่าตนเองไม่เห็นด้วยหากมีการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยมีการอำพรางภาพให้มัวลง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.79 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์สามารถเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.05 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่งผลให้ผู้คนเพิ่มความระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.52 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่ส่งผลให้ตนเองรู้สึกกลัวในการเดินทางไปไหนมาไหนในแต่ละวันมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.85 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่มีส่วนทำให้ตนเองลดการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.42 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตและญาติพี่น้อง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.81 ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มบุคคลที่เผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆโดยเขียนคำว่า "ขออโหสิกรรม" และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.33 เห็นด้วยหากจะมีการกำหนดบทลงโทษให้สูงขึ้นสำหรับผู้ที่เผยแพร่/แบ่งปัน/ส่งต่อภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในทุกๆกรณีผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ