เยี่ยม เยือน ยล วิถีผู้คน “นางเลิ้ง”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 9, 2017 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)"นางเลิ้ง" หรือ "อีเลิ้ง" ถ้าเป็นคนก็คงเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็น "ยุครุ่งเรืองสูงสุด" หรือ "ยุคที่แย่จนยากจะผ่านมาได้" เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญได้พัดพาให้แสงไฟเริ่มริบหรี่ หากแต่ยังพอมีถ่านครุกรุ่นของทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ที่หวงแหนวิถีชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรม พวกเขาจึงสืบทอดสิ่งเหล่านั้นจากผู้เฒ่า ให้คนรุ่นใหม่ได้นำไปผสานใช้กับวิถีปัจจุบัน ทำให้ "นางเลิ้ง" ยังคงเป็น "นางเลิ้ง" ได้ถึงทุกวันนี้ แบบไม่ตกยุคสมัย ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน "ชุมชนนางเลิ้ง" คือ ศูนย์รวมความเจริญขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองสยาม มีทั้งสนามม้า โรงหนัง สถานที่สังสรรค์ หน่วยงานราชการ และอารามใหญ่อย่างวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) ตลาดน้ำคึกคัก และยังเป็นที่ตั้งของตลาดบกแห่งแรกของไทย ศูนย์รวมอาหารไทยตำรับชาววัง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของคณะละครชาตรีที่โด่งดังอย่างมากในอดีต แต่การสานต่อลมหายใจของคนรุ่นใหม่ที่เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ก็คงหมดสิ้นลงในสักวันหากขาดการสนับสนุนจากคนภายนอก และนางเลิ้งก็อาจเป็นเพียงภาพในความทรงจำของคนกรุง "SOOK Travel" โดย ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงขอเชิญทุกท่านไปลองชื่นชมและร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม ผ่านการ "เยี่ยม เยือน ยล วิถีผู้คนชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน" โหมโรงด้วยการชมละครชาตรี พูดคุยให้ออกรส สองขาตะลุยเดินชม ชิม ชอป แล้วมาทำขนมไทยดั้งเดิม ปิดท้ายด้วยการโยกย้ายส่ายสะโพกเต้นรำ "คุณสุวรรณ แววพลอยงาม" หรือ "พี่แดง" ผู้นำชุมชนนางเลิ้งเล่าว่า "..แต่ก่อนย่านนี้เจริญมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด "คลองผดุงกรุงเกษม" เพื่อขยายอาณาเขตของราชธานีในปี พ.ศ. 2394 ที่นี่จึงเป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่คึกคัก นำพานานาความรุ่งเรือง บันเทิง และมนต์เสน่ห์ต่าง ๆ ทั้งด้านบวกเช่นอาหารเลิศรส ตลาดน้ำ ตลาดบก และด้านลบที่เริ่มซาไปบ้างแล้วอย่างแหล่งการพนัน และสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน หลั่งไหลเข้ามา...อย่างไรก็ตามคนที่นี่มี "วัดสุนทรธรรมทาน" และ "พระราชธรรมวิจารณ์ (หลวงปู่ธูป)" เป็นศูนย์กลางของจิตใจให้กระทำการสิ่งที่ดี และมี "มิตร ชัยบัญชา" เป็นพระเอกตลอดกาลยอดดวงใจ ที่เกิดที่นี่ โตที่นี่ และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้ไปในทางที่ดีอีกด้วย.." การได้เข้ามาเยือนถึงถิ่นเช่นนี้ คงไม่มีการแสดงใดที่เหมาะแก่การโหมโรงเพื่อเริ่มต้นการเยี่ยม เยือน ยล ได้เท่ากับการรับชม "ละครชาตรี" การแสดงที่อยู่คู่กับชุมชนมานับร้อยปี โดยผู้สืบสานลมหายใจรุ่นสุดท้าย "คุณกัญญา ทิพโยสถ" หรือ "อาจารย์แมว" อาจารย์เล่าว่า "ละครชาตรีเป็นละครที่นักแสดงโนราของภาคใต้ซึ่งติดตามทัพหลวงเข้ามาอยู่กรุง ค่อย ๆ ปรับรูปแบบการแสดงของตนให้เข้ากับรสนิยมของคนเมืองมากขึ้น จนได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในวังและในหมู่ราษฎรทั่วไป แต่ยุคหลังการแสดงละครชาตรีแทบไม่มีเหลือแล้ว จนก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีชุมชนได้รื้อฟื้นให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เพราะอยากเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และช่วยกันสืบสานต่อไป" หลังจากการยลจึงเป็นช่วงของการเยือน เดินชมสองข้างทางที่คราคร่ำด้วยสิ่งยืนยันความเจริญในยุคเก่า ทั้งโรงหนังศาลาเฉลิมธานี ซึ่งเปิดฉายภาพยนตร์สร้างปรากฏการณ์ให้ชาวตลาดร้านรวงหันมาเสพมหรสพตามแบบนอกกันอย่างคึกคัก ตึกรามบ้านช่องรูปแบบโบราณช่วงเริ่มรับเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจากตะวันตก และพลาดไม่ได้สำหรับนักชิม คือ "ตลาดนางเลิ้ง" ที่ตั้งของร้านอาหารคาวหวานต้นตำรับสูตรชาววังมากมาย ซึ่งยังเปิดค้าขายอย่างรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน หลังจากได้ดื่มด่ำไปกับวิถีร้านรวง ขอแนะนำให้เที่ยวให้สุด สวมบทบาทเป็นแม่ศรีเรือนทำ "ขนมเรไร" เพราะขนมชนิดนี้หารับประทานได้ยากเต็มทีในยุคนี้ กดแป้ง นึ่งในลังถึง โรยงาปะหน้า กันให้เต็มที่ ณ "บ้านนางเลิ้ง" หรือ "บ้านศิลปะ" ซึ่งพี่แดงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและศิลปะให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่ดี มีปัญหาครอบครัว ความรุนแรง และยาเสพติดในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสวิถีนางเลิ้งอีกด้วย อรรถรสของชุมชนยังไม่จบเท่านี้ ความสนุกส่งท้ายที่อยากชวนกันไปทำกันคือ "การเต้นรำ" โยกย้ายส่ายสะโพก ออกท่าทางเคล้าคลอไปกับเสียงดนตรีอันไพเราะที่ "บ้านเต้นรำ" และเมื่อมาถึงถิ่นสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการเยี่ยมถามสารทุกข์สุขดิบ รำลึกถึงบรรยากาศเมืองกรุงในยุค "โก๋หลังวัง" วัยรุ่นกำลังตามกระแสนิยมการเต้นลีลาศ ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในสถานที่นั้น รับฟังเรื่องราวความเก๋าผ่านเจ้าของบ้านรุ่นหลาน "คุณธาริณี ตามรสุวรรณ" หรือ "พี่เอ้ย" นอกจากนั้นที่นี่ยังใช้จัดแสดงและทำกิจกรรมทางศิลป์ร่วมสมัยอีกด้วย หลังจบการเยี่ยม เยือน ยล เรื่องราวชีวิตของผู้คนนางเลิ้งยังไม่จบ เช่นเดียวกับผู้ที่มีโอกาสได้เดินทางไปกับกิจกรรม "SOOK Travel" ซึ่งผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งได้บอกกับเราว่า "ที่นี่จุดประกายให้อยากกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของตน เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญการมาถึงของวาระสุดท้าย เหมือนกับที่หลายชุมชนได้ไปถึงจุดนั้นแล้ว" นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเสียงที่บอกว่า "กิจกรรมการเยี่ยม เยือน ยล ครั้งนี้ทั้งสนุก ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้ และยังได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีกด้วย" SOOK Travel โดย สสส. ขอขอบคุณชุมชนนางเลิ้ง ผู้ร่วมเดินทาง และขอเชิญชวนทุกท่านมาลองสัมผัสประการณ์การเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ แล้วคุณจะรู้ว่ายังมีความงดงามซ่อนอยู่ในอีกหลายต่อหลายแห่งของไทย ติดตามกิจกรรมของชุมชนนางเลิ้งได้ที่ Facebook: BaanNanglerng และติดตามกิจกรรมของ SOOK Travel ได้ที่ Facebook: Sookcenter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ