กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้แทนประเทศไทยเพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงาน UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4 ร่วมกับ ดร.ทาลิป ริฟาย เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ณ เมือง San Sebastian ราชอาณาจักรสเปน โดยมี นางรัตติกุล จันทร์สุริยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด พร้อมด้วย ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันอาหาร Basque Culinary Center ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม เพื่อประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
การเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยแล้วยังมีการเสวนาทางวิชาการอันเป็นภาคทฤษฏี การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และภาคปฏิบัติในลักษณะของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ลงพื้นที่แหล่งผลิตอาหารจริง ซึ่งจะเป็นการสัมผัสและวัฒนธรรมความเป็นมาของคนในพื้นที่ และการถ่ายทอดลงสู่เมนูอาหารต่างๆ โดยในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงอาหารนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบอาหารริมทาง (Street Food) และในปีนี้ประเทศไทยยังมีความร่วมมือกับมิชชาลินไกด์ในการประเมินและแนะนำร้านอาหารไทยที่ติดอันดับในกรุงเทพฯ
ข้อมูลกรมการท่องเที่ยวพบว่า ใน ปี 2558 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอาหาร จำนวน 456,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวไทย 174,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 282,000 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ที่มีการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในรูปแบบของรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ จีน อังกฤษ และรัสเซีย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 รัฐบาลจึงได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดโครงการ Amazing Thai Taste เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการประสานพลังประชารัฐ ร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ (Brand) ของอาหารและผลไม้ไทยให้เป็นสินค้าเกรดดี (Premium Product) ส่งเสริมให้ทานผลไม้ไทยตามฤดูกาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงชุมชนทุกระดับในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยเฉพาะอาหารไทยที่ผลิตขึ้นจากแหล่งชุมชนรากหญ้า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดอาหารไทย 6 ชนิด ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น และต้มข่าไก่
ปลัดฯ พงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเป็นเจ้าภาพโลกในการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทยในครั้งนี้จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากอาหารไทยมีชื่อเสียงและขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติ และความประณีตในการบรรจงคัดเลือกวัตถุดิบปรุงแต่งที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ทางโภชนาการ มีความพิถีพิถันในการตกแต่งอาหารให้มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมและวัตถุดิบของแต่ละท้องถิ่น สะท้อนถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย เป็นการส่งเสริมการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนา สร้างคนสร้างงาน ดังจะเห็นได้จาก อาหาร 1 จาน จะมีการคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ รวมถึงมีรายละเอียดของแต่ละเมนูอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์โฆษณา จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและเรื่องราวของ "ผัดไทย" ในมุมมองของการท่องเที่ยวเชิงอาหารเผยแพร่ภายใต้ Discover Amazing Stories : PADTHAI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Amazing Thailand Discover Amazing Stories