กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
ศิลปนิพนธ์ 13 ผลงาน โครงการแสดงผลงานอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ทางด้านดนตรี ปีการศึกษา 2559 ของนักศึกษาภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อริยา สุอังคะวาทิน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การแสดงศิลปนิพนธ์เป็นผลงานนักศึกษาที่ประมวลความรู้ที่ได้รับจากกระบวนการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 เพื่อกำหนดหัวข้อในการค้นคว้า และแสวงหาคำตอบที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ทั้งเชิงอนุรักษ์ พัฒนา หรือสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่แตกต่างกับไปตามลักษณะเฉพาะ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา และสาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา โดยนักศึกษาจะนำผลงานออกแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในรูปแบบของการจัดแสดงบนเวทีประกอบแสง สี เสียง ผลงานที่นำออกแสดงได้ผ่านกระบวนการทางความคิด วิเคราะห์ จัดองค์ความรู้ในการคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตน รวมถึงการนำองค์ความรู้ที่ค้นพบนั้นมาถอดบทเรียนถ่ายทอดให้กับน้องๆ รุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแนวทางในการต่อยอด เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในภายหน้า โดยในปีนี้มีผลงานศิลปนิพนธ์ 13 ผลงานประกอบด้วย การบรรเลงมโหรีเขมรถิ่นไทย การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดปราบกากนาสูร การแสดงสร้างสรรค์ ชุดยอลหยาลีลาอาภรณ์ การแสดงละคร เรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ การบรรเลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงอาหนู สามชั้น การแสดงสร้างสรรค์ ชุด จัตุภูมิลีลาพัสตราภรณ์ การแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนลักรูปเงาะเหาะไปในนภา การบรรเลงเพลงเทพชาตรี เถา การบรรเลงเพลงชุดบัวลอยสำนักบ้านอรรถกฤษณ์กรณีศึกษา จ่าอากาศเอกสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ การแสดงสร้างสรรค์ ชุด หัตถศิลป์ถิ่นราชบุรี การสร้างสรรค์ผลงานเพลง "ปทุมมาศราชมงคล" การแสดงสร้างสรรค์ ชุด นฤตยสัตโนรานารี และการแสดงโขนโรงใน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดจองถนน ตอนพระรามข้ามสมุทร
นายอภิสิทธิ์ ต้นพิกุล ตัวแทนผลงานการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดปราบกากนาสูร เล่าว่า เกิดจากผู้วิจัยและคณะมีความสนใจในกระบวนท่ารำของนางกากนาสูร ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นกระบวนท่ารำของยักษ์ และลิงผสมกัน กระบวนท่ารบของนางกากนาสูรกับพระราม พระลักษมณ์ และกระบวนท่ารบสวาหุมารีจ กับพระราม และพระลักษมณ์ ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดปราบกากนาสูร เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาลักษณะและรูปแบบการแสดงบทโขน เนื้อร้อง ทำนองและดนตรี เครื่องแต่งกาย และกระบวนท่ารำของโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดปราบกากนาสูร
นางสาวนันทิตา สงพราหมณ์ ตัวแทนผลงานการแสดงสร้างสรรค์ ชุด จัตุภูมิลีลาพัสตราภรณ์ เล่าว่า ผู้วิจัยมีความสนใจทางด้านวิวัฒนาการการแต่งกายของข้าราชบริพารในราชสำนักที่มีรูปแบบที่หลากหลายและมีที่มาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 8 วิวัฒนาการวัฒนธรรมการแต่งกายของข้าราชบริพารในราชสำนักตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 8กำหนดลักษณะและรูปแบบการแสดง ประพันธ์บทร้อง กำหนดทำนองเพลงและเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ศึกษาเครื่องแต่งกาย ประดิษฐ์ท่ารำประกอบการแสดง และถ่ายทอดท่ารำให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1–3 สาขานาฏศิลป์-ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นายธิวาธร พรหมรักษา ตัวแทนผลงานการบรรเลงเพลงชุดบัวลอย สำนักบ้านอรรถกฤษณ์ กรณีศึกษา จ่าอากาศเอกสุวัฒน์อรรถกฤษณ์ เล่าว่า เพลงชุดบัวลอย สำนักบ้านอรรถถกฤษณ์ กรณีศึกษา จ่าอากาศเอกสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของวงบัวลอย ศึกษาประวัติสำนักบ้านอรรถกฤษณ์ และเพลงชุดบัวลอยทางจ่าอากาศเอกสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ คณะผู้วิจัยสนใจในการค้นคว้าเรื่องของวงปี่กลองในงานอวมงคล ซึ่งวงปี่กลองในงานอวมงคลนั้นมีความสำคัญในการอนุรักษ์ให้คงบรรเลงสืบไปในอนาคตการณ์ ทั้งนี้ทางผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับวงปี่กลอง และจัดเก็บข้อมูลประวัติของ จ่าอากาศเอกสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ และประวัติวามเป็นมาของสำนักบ้านอรรถกฤษณ์
นางสาวณัฐพร รอตสุวรรณ์ ตัวแทนผลงานการแสดงชุด นฤตยสัตโนรานารี เล่าว่า เพื่อศึกษาบทการแสดงโนรา ตอนคล้องหงส์ ท่ารำโนราพื้นฐาน 12 ท่า ของโนรายก ชูบัว กำหนดลักษณะและรูปแบบการแสดง กำหนดบทร้องทำนองเพลงและดนตรี ออกแบบเครื่องแต่งกาย ประดิษฐ์ท่ารำประกอบการแสดง และถ่ายทอดกระบวนท่ารำให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เกิดจากการที่ผู้วิจัยและคณะมีความสนใจในบทการแสดงโนรา ตอนคล้องหงส์ที่ระบุชื่อนางกินรีทั้ง 7 ซึ่งเป็นธิดาของท้าวทุมพร และกระบวนท่ารำโนราพื้นฐาน 12 ท่าของโนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา
ศิลปนิพนธ์ทั้ง 13 ผลงานเป็นการแสดงออกถึงความสามารถของนักศึกษาทั้งในด้านวิชาการทางวิชาชีพ และการบริหารจัดงานการแสดงอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการได้ทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ การแสดงออกถึงความมีน้ำใจ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง รวมถึงความเคารพในครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา ความรู้ให้กับเหล่าศิษย์อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมที่ดีงานสืบทอดต่อในภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ ผศ.อริยา สุอังคะวาทิน กล่าวทิ้งท้าย