กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--IR network
บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) เปิดแผนปี"60 รุกธุรกิจธุรกิจพลังงานสุดตัว พร้อมบุกงานรับเหมาก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ จ่อบุ๊ครายได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมียนมาร์ปีละ 2.5พันลบ. ลากยาว 4 ปี ดันรายได้ปีนี้โตเท่าตัว ทะลุ 3 พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท หนุนกำไร ทำสถิติสูงสุดใหม่ มั่นใจสถานะฐานะทางการเงินแกร่ง หลังปรับโครงสร้างการเงินเสร็จ พร้อมเดินหน้าท้าลุยเต็มที่
นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการ และกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE)เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 49.53 ล้านบาท จากปี 2558 ขาดทุน 106.14 ล้านบาท โดยในปี 2559 มีรายได้รวม 1,670.53 ล้านบาท ทำสถิติสงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคาดว่าในปีนี้รายได้และกำไรจะ New High ต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่มีกว่า 3,000 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปีนี้
"ภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้และกำไรโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัทฯจะมีการรับรู้รายได้จากโครงการรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศเมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวทยอยรับรู้รายได้ใน 4 ปี ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯได้ร่วมถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 12% ซึ่ง VTE ถือเป็นผู้รับเหมาของไทยเจ้าแรกที่ได้มีโอกาสเข้าไปก่อสร้าง เมกะโซลาร์ฟาร์มในเมียนมาร์ ที่เพิ่งเปิดให้ PPAโรงไฟฟ้า 9 ใบ โดย VTE ได้ร่วมกับ China Triumph International Engineering Company Limited (CTIEC) ซึ่งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ซึ่งมีประสบการณ์สร้างโซลาร์ฟาร์มในประเทศจีนมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และในยุโรป มากกว่า 300 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังเคยสร้างโซลาร์ฟาร์มให้กับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย อีกด้วย นอกจากนี้ VTE ยังเตรียมรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย
"หากรวมงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในไทยที่เฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะได้งานประมาณ 600 ล้านบาท มารวมกับรายได้จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์เฉลี่ยปีละ 2.5 พันล้านบาท และงานที่เหลืออยู่ในฟิลิปปินส์ ผมมองว่าแนวโน้มรายได้ของบริษัทฯในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือแตะที่ 3 พันล้านบาท ผลักดันให้กำไรทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง แม้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงของการลงทุน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษี ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย และทางด้านเทคนิค เกิดขึ้น เพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงของการลงทุน"นายศุภศิษฏ์
นายศุภศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดเตรียมโครงสร้างทางการเงิน เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายแหล่งที่มาของรายได้ประจำ ลดความเสี่ยงการพึ่งพารายได้จากงานรับเหมาภายในประเทศ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจ ขณะเดียวกันยังอนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไปหรือ General Mandate เรียบร้อยแล้ว ทำให้การระดมทุนมีความคล่องตัว นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดเข้ามาจากการขายโซลาร์ฟาร์มคาโงะชิมา (Kagoshima) ขนาดกำลังการผลิต 1.172 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นอิงะ (Iga) ขนาดกำลังการผลิต 980 กิโลวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าประมาณ 267.45 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR)ในตัวเลข 2 หลัก โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะทรัพย์สิน (Due Diligence) และวางมัดจำโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว 3-4 โครงการ กำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์