กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สสว.
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.)กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว และรับคำขอสินเชื่อประชารัฐ เพื่อ Micro SME (Micro SME Loan) สรุปดังนี้
คณะกรรมการสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ Micro SME ที่สสว. นำเสนอใน 2 ด้านหลัก ซึ่งมาตรการทั้ง 2 ด้านนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตมะ สาวนายน ประธานอนุกรรมการของ สสว.แล้ว มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
สสว. จะจัดสรรเงินจากกองทุนฟื้นฟู SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลมอบหมายให้ สสว. ดำเนินการ มาปล่อยกู้ให้แก่SME รายย่อย (Micro SME) และวิสาหกิจชุมชน รายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเงินกู้ระยะยาว 10 ปี เพื่อให้กิจการรายย่อยนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ
สสว.ได้ปรับปรุงวิธีการปล่อยกู้ให้รวดเร็วขึ้นในลักษณะเดียวกันกับ Program Lending ที่สถาบันการเงินใช้ในการให้สินเชื่อcredit card หรือ personal loan โดย สสว. ตั้งเป้าไว้ว่า จะพยายามอนุมัติเงินกู้ให้ได้ภายใน 7 วันทำการ นับตั้งแต่ผู้ประกอบการยื่นคำขอกู้ และได้พยายามจัดขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกู้ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะ สสว. ตระหนักดี ว่า ผู้ประกอบการรายย่อยมักประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน
คุณสมบัติของผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชนที่สามารถขอกู้ได้คือ
1) มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งหรือมีการจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนอื่นใดกับหน่วยงานราชการโดยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้
2) ดำเนินกิจการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี และมีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจการต่อไป
3) เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน ซึ่งมีความหมายกว้าง ครอบคลุมคือ ธนาคารทุกประเภท กิจการ Non Bank ทุกประเภท เช่น ลิสซิ่ง บัตรเครดิต Nano Finance เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะเป็นลูกค้าปกติที่สามารถจ่ายชำระได้ หรือเป็นNPL ก็ได้
ในเบื้องต้น ได้จัดสรรวงเงินให้กู้ยืม แก่ SME รายย่อยและวิสาหกิจชุมชนไว้ 500 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ 2,500 ราย หากมีความจำเป็น สสว. จะพยายามหาเงินมาเพิ่มเติม
2.การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
เพื่อให้กิจการรายย่อย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสจะขยายตัวได้ตามศักยภาพ สสว.ได้จัดงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีใน 3 เรื่องคือ
1) การให้ความรู้ด้านการตลาด แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อผู้ประกอบการจะมีความเข้าใจว่า ควรจะปรับปรุงสินค้า/บริการ อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในเขตเมือง ในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุง สสว. จะหาโครงการอื่นเข้ามารองรับต่อไป
2) การยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ถูกสุขอนามัยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สสว. จะดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับ อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และบริษัท Central Labซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว. กับกระทรวงการคลัง โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
3) จูงใจให้ทำบัญชีอย่างถูกต้อง
เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสินค้า/บริการเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว และมีความต้องการที่จะขยายกิจการ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สสว. จะจัดดำเนินการร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
พร้อมกันนี้ได้มีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 40 ราย จาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ชุมพร เพชรบุรี ชัยนาท สระบุรี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในร้านค้าประชารัฐสุขใจ shop จำนวน 406ราย จาก 31 จังหวัด รวมเป็นผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 446 ราย ที่ให้ความสนใจมายื่นคำขอกู้เงิน ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้กรอกแบบฟอร์มขอกู้เงิน และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติเป็นล็อตแรก วงเงินสินเชื่อ 89.2 ล้านบาท