กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมประมง
กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรห้ามจับสัตว์น้ำจืดในฤดูที่ปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 15 กันยายน 2560 พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาศให้ทรัพยากรสัตว์น้ำสามารถฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทนและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุมแหล่งน้ำจืดของประเทศหากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สัตว์น้ำจืดของประเทศไทย เป็นทรัพยากรของแผ่นดินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นความมั่นคงด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศจำนวนมาก กรมประมงมีนโยบายชัดเจนและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและติดตามสภาวะทรัพยากรประมง เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ตรวจตราควบคุมเฝ้าระวัง คุ้มครองดูแลรักษาและป้องกันสัตว์น้ำในธรรมชาติ สำหรับมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงดังกล่าว คือการประกาศและกำหนดช่วงเวลาในการทำประมง โดยห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุมแหล่งน้ำจืดของประเทศ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงวันที่ 17 เมษายน 2507 เพื่อใช้เป็นมาตรการด้านการสงวนคุ้มครอง และอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดในฤดูที่กำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ให้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ เพื่อเกิดผลผลิตสัตว์น้ำของแหล่งน้ำในปีต่อๆไป
กรมประมงจึงขอประกาศปิดฤดูการทำประมงในเขตน้ำจืด ในระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 15 กันยายน 2560พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นพื้นที่ 10จังหวัด ที่มีประกาศกำหนดฤดูปลามีไข่ในเขตน้ำจืดเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2560
2. จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2560
3. จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2560
4. จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2560
5. จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2560
6. จังหวัดหนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2560
7. จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2560
8. จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม 2560
9. จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2560
10. จังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 31 มกราคม 2561
โดยมาตรการดังกล่าวห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใดๆ ในที่จับสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ยกเว้นเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ เป็นเครื่องมือบางชนิดที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้นเบ็ดราว
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และขนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้าง ไม่เกิน 2 เมตร โดยห้ามไม่ให้ทำการประมงด้วยวิธีประดาหน้าตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง
4. การทำประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยง ซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงให้อนุญาตเท่านั้น
บทกำหนดโทษ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ ยังมีผลบังคับใช้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 171 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง
สำหรับในปีนี้กรมประมง ได้จัดพิธีประกาศกำหนดฤดูปลามีไข่ และกำหนดชนิด ขนาดและวิธีใช้เครื่องมือทำการประมง ประจำปี 2560 ในวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2560 ณ บริเวณท่าชัยยุทธศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการทำประมงอย่างถูกวิธีเพื่อทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีใช้อย่างยั่งยืนสืบไป