กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
จากปัญหาการติดเชื้อโรคผ่านขยะมูลฝอยตามโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้เกิดงานวิจัยถังขยะฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซนระบบพลาสมาความดันสูง หวังช่วยลดปัญหาการติดเชื้อโรคจากขยะมูลฝอย คาดอนาคตจะผลิตสินค้าออกเชิงพาณิชย์เพื่อช่วยลดปัญหาการติดเชื้อโรค
ดร.มงคล จงสุพรรณพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หรือ STC กล่าวว่า ถังขยะฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซนระบบพลาสมาความดันสูง เป็นนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการผลิตและวิจัยจาก STC โดยเกิดจากแนวคิดที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อโรคที่เกิดจากสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการทดลอง
"ที่ผ่านมาขยะมูลฝอยติดเชื้อโรคไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้เก็บขยะ ผมจึงเกิดแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ขยะเหล่านี้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และไม่เป็นอันตรายต่อผู้เก็บ ซึ่งถังขยะฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซนระบบพลาสมาความดันสูงนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและกำลังจะจดอนุสิทธิบัตร"
โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมดังกล่าว ได้แก่ โรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโรคและต้องการกำจัดขยะดังกล่าวอย่างปลอดภัยด้านสาธารณสุข คาดว่าในอนาคตนวัตกรรมดังกล่าวจะผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ราคาจำหน่ายประมาณ 25,000 บาท
"นวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยพัฒนาการศึกษาของนักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย พวกเขาจะได้ศึกษาผลงานวิจัยและนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งผมมองว่าหากเราช่วยกันพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือการอนุรักษ์พลังงาน จะช่วยลดปัญหามลภาวะหรือการติดเชื้อโรคได้มากขึ้น"
สำหรับผลงานนวัตกรรมในอนาคตที่จะพัฒนา คือ การนำระบบการผลิตโอโซนในระบบพลาสมาความดันสูงไปประยุกต์ในงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขในด้านต่างๆ ซึ่งอยากจะให้แหล่งวิจัยของรัฐบาลสนับสนุนทุนวิจัยต่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้มากขึ้น