กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกหลักเกณฑ์ 9 ข้อ ประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล สนับสนุนสหกรณ์ให้บริหารงานด้วยความโปร่งใสไร้ทุจริต ลดปัญหาด้านข้อบกพร่องทางการบัญชี การทำนอกกรอบวัตถุประสงค์และพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานอันจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกหวังเรียกศรัทธา-ดึงความเชื่อมั่นกลับคืนสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล โดยส่งเสริมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 1,000 ล้านบาท นำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในการบริหารงานสหกรณ์ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินสหกรณ์สีขาวด้วย
ธรรมาภิบาล ประกอบด้วยหลักสำคัญ 9 หลัก ได้แก่ 1.หลักประสิทธิผล 2.หลักประสิทธิภาพ 3.หลักการตอบสนอง4.หลักภาระรับผิดชอบ 5.หลักความโปร่งใส 6.หลักการมีส่วนร่วม 7.หลักการมอบอำนาจ 8.หลักนิติธรรมและ9.หลักความเสมอภาค ซึ่งปีแรกนี้จะให้ความสำคัญกับหลักประเมิน 4 หลัก คือ หลักภาระความรับผิดชอบ, หลักความโปร่งใส, หลักการมีส่วนร่วมและหลักนิติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยบริหารงาน สร้างความโปร่งใสไร้ทุจริต ซึ่งความเชื่อมั่นที่มีต่อสหกรณ์ให้กลับคืนมา
ทั้งนี้ สหกรณ์ที่จะผ่านเกณฑ์ประเมินตามหลักธรรมาภิบาล จะพิจารณาจากสหกรณ์นั้นต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ มีการบริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักของความคุ้มค่า มีการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนามาตรฐานการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น มีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีการบริหารจัดการด้านการบริหารความเสี่ยงในสหกรณ์และการจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่สมาชิก กรรมการ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิก พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารงานและติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของสหกรณ์โดยสมาชิก มีการพัฒนาคุณภาพกรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านความรู้ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหลักความเสมอภาคในการให้บริการและการทำงาน รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ
นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการบริหารงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การทุจริต พิจารณาจากพบเหตุว่าผู้เจตนากระทำการใดๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และทำให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ หรือสมาชิก และบุคคลภายนอก, 2.ข้อบกพร่องทางการบัญชี โดยจงใจฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับการบัญชี, 3.การกระทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ ด้วยการทำหน้าที่และใช้อำนาจ ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสหกรณ์ และ 5.พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายสูงหรือส่งผลกระทบในวงกว้าง
ในการประเมินว่าสหกรณ์ใดผ่านหลักเกณฑ์และได้รับการรับรองว่าเป็นสหกรณ์สีขาว มีการบริหารงานที่โปร่งใสปราศจากการทุจริต จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลระดับจังหวัด จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ให้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ พร้อมทั้งปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และจะมีการตรวจประเมินอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนจะรายงานผลมายังส่วนกลาง ภายในวันที่ 30 กันยายน 2560 เพื่อที่กรมฯจะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการประเมินและทำการตรวจการประเมินรอบสุดท้าย ก่อนจะประกาศผลสหกรณ์ที่ผ่านหลักเกณฑ์สหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล ประมาณเดือนมกราคม 2561
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า สหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินธรรมาภิบาลแล้วจะได้รับการประกาศเป็นสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลแล้ว มีการมอบใบประกาศเกียรติคุณ และมีสิทธิในการส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร "สร้างนักการเงินรุ่นใหม่" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรอบรมเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
สำหรับสหกรณ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวทางในการเข้าไปพัฒนาเพื่อให้สามารถ โดยการนำผลที่ได้จากการประเมินมาวิเคราะห์ร่วมกับสหกรณ์เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริม แนะนำและพัฒนา โดยการตรวจประเมินจะเป็นลักษณะการตรวจเพื่อแนะนำและพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น มิใช่การตรวจเพื่อจับผิด ทั้งนี้ เมื่อประเมินแล้วไม่ผ่านเกณฑ์กรมจะดำเนินการส่งเสริมพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นสหกรณ์สีขาวทั้งระบบต่อไป