ศูนย์ไกล่เกลี่ย เปิดรับผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านไกล่เกลี่ยเพิ่ม วางแผนเดินสายอบรมการประนอมข้อพิพาทครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ก่อนปี 2545

ข่าวทั่วไป Friday September 14, 2001 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ในโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท จำนวน 254.43 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อแบ่งเบาภาระคดีทางการเงินที่ศาลมีอยู่ รวมถึงการอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงิน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 2 ปี(2544-2545)นั้น มีความสำเร็จรุดหน้ามาโดยลำดับ
นายพรชัย อัศววัฒนาพร ผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ช่วยทำงานผู้พิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าและแผนงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ มีผู้ไกล่เกลี่ยเพิ่มขึ้นอีก 90 ท่าน จากระยะแรกที่มีเพียง 34 ท่าน และได้วางแผนขยายการดำเนินงานสู่ภูมิภาค จึงเปิดรับผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมอีก 10-30 คน เพื่อรองรับงานในอนาคตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2545 งานคดีความของศาล จะไม่ดำเนินการด้านการไกล่เกลี่ย โดยจะโอนหน้าที่ดังกล่าวไปยังศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ เพื่อลดภาระคดีแพ่งที่จะเข้าสู่การพิจารณาของผู้พิพากษา
"ศูนย์ฯได้เตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและผู้ทรงคุณวุฒิให้มากขึ้น เพื่อรองรับนโยบายและแผนงานให้ครบทุกแห่ง ในเบื้องต้นผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมจะทำหน้าที่ฝึกอบรมให้กับบุคคลทีต้องการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อขยายจำนวนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้เพิ่มมากขึ้น" นายพรชัยกล่าว
การทำงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ จะทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานและตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางการเงิน ให้แก่คู่ความที่มีปัญหาขัดแย้ง ทั้งที่เป็นคดีแพ่งและคดีอาญา(เฉพาะที่เป็นความผิดยอมรับได้) ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลและยังไม่ฟ้องร้อง
สำหรับบุคลากรของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ ผู้ไกล่เกลี่ย ทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนในการเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ตลอดจนแนะแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้ยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยระหว่างการไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องไม่ออกความคิดเห็นใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้น และคอยให้ความช่วยเหลือคู่พิพาทในเรื่องของการร่างสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ นั้น จะเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาและแนะนำให้กับผู้ไกล่เกลี่ยในแต่ละกรณี ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องมีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา เช่น ด้านการเงิน การจัดการ การบริหาร และกฎหมาย
สำหรับบุคลากรภายนอกที่อยู่ในความต้องการของศูนย์ฯ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยนั้น จะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาด้านกฎหมาย การจัดการ การเงิน และการบริหาร ซึ่งจะมีความเข้าใจในรายละเอียดได้ดี ทั้งนี้ ผู้ไกล่เกลี่ย และผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และถ้าพบว่าบกพร่องในหน้าที่ ก็จะถูกถอดถอนให้พ้นจากหน้าที่ หรือถูกลบชื่อออกจากทะเบียนรายชื่อของศูนย์ฯทันที
การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ได้เริ่มมาแล้วกว่า 6 เดือนนั้น ปรากฏว่ามีจำนวนคดีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวนกว่า 400 คดี แยกเป็นคดีจากศาลจังหวัดที่มีวงเงินพิพาทตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 คดี ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้นและนำส่งคดีคืนศาล 1 คดี คดีจากศาลแขวงที่มีวงเงินพิพาทไม่เกิน 300,000 บาท จำนวน 400 คดี ดำเนินการไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้นแล้ว 40 คดี
"จำนวนคดีของศาลแขวงที่ส่งเรื่องมายังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีจำนวนมากนั้น เนื่องจากว่าวงเงินในการพิพาทจำนวนไม่มาก และคดีส่วนใหญ่เป็นปัญหาหนี้บัตรเครดิต ซึ่งเจ้าหนี้คือสถาบันการเงินฟ้องร้องให้ชำระเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นคดีเงินกู้ต่าง ๆ"
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร.0-2279-8001,0-279-7937 และ 0-2616-2270-1--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ