กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กรมสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุระเบิดที่ จ.ปัตตานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้กรมสุขภาพจิตร่วมเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยปฏิบัติงานควบคู่กับทีมแพทย์ฝ่ายกายอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เพื่อให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ประเมินและค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้นเพื่อให้สภาวะจิตใจกลับสู่ปกติ รวมทั้งมีการดูแลผู้มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาและโรคจิตเวช ได้แก่ โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว 6 เดือน ซึ่งได้จัดส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยหรือทีม MCATT รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสานงานร่วมกับ โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ จากรายงานเบื้องต้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามารถกลับบ้านได้แล้วบางส่วน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้ที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จะพบปฏิกิริยาทางจิตใจที่หลากหลาย ได้แก่ ภาวะช็อก เงียบเฉย มึนงง อารมณ์เฉยชา ไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม บางคนจะมีการแยกตัวในช่วงแรกๆ หลังประสบภัย นอนไม่หลับ ฝันร้าย อารมณ์ตกใจและหวาดกลัว ผวาตกใจง่าย บางคนจะรู้สึกเหมือนตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น ทำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานที่ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น ฯลฯ ต้องขอย้ำว่า อาการดังกล่าวถือเป็นปฏิกิริยา "ปกติ" ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์"ไม่ปกติ" โดยอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจมีอาการเหล่านี้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤต ถ้าได้มีการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกันตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้เข้าใจสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือปรับตัวได้ดีขึ้น สามารถประเมินความต้องการเร่งด่วน ประสานถึงแหล่งสนับสนุนอื่นๆ ที่มีได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ที่สำคัญสามารถป้องกันภาวะความผิดปกติทางสุขภาพจิตหรือจิตเวชได้ หรือถ้ามีปัญหาแล้วก็สามารถให้การรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไปได้ในอนาคต
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้สังเกต สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเป็นบุคคลต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือบุคลากรสุขภาพจิต ได้แก่ มีอาการนี้มากและนานจนรบกวนการใช้ชีวิต กระทบต่อคนรอบข้าง หรือคิดทำร้ายตนเอง จำเป็นต้องปรึกษาบุคลากรสุขภาพจิตใกล้บ้านให้เร็ว วิธีการจัดการปัญหาด้วยตนเอง คือ ให้ใช้ชีวิตประจำวันตามเดิมเท่าที่ทำได้ ในเรื่องการกิน อยู่และขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา ยาเสพติดเพื่อแก้ปัญหาไม่สบายใจ ทำกิจกรรมที่เพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ปรึกษา พูดคุย เรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือจากคนที่ไว้ใจ สำหรับกลุ่มเด็ก จะมีอาการแตกต่างกันไปแล้วแต่อายุ ตลอดจนพื้นฐานอารมณ์และการเลี้ยงดู ในเด็กเล็กอาจมีอาการกลัว เดินไปมาโดยไม่มีจุดหมาย หรืออาจอยู่นิ่งๆโดยไม่ทำอะไรเลย การนอนผิดปกติ ในเด็กโตหรือในวัยรุ่นอาจซึมเศร้า ฝันร้าย และมีภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคอยหลอกหลอน แวบเข้ามาในความคิดอยู่บ่อยๆ อาจนอนไม่หลับ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่ายได้ ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ โดย รับฟังให้เด็กเล่า เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของเขา ซึ่งผู้ใหญ่ควรอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดผลกระทบและจะหายไปได้ ตลอดจนดูแลเอาใจใส่เด็กให้มากขึ้น รวมทั้งพยายามให้พวกเขาทำกิจวัตรประจำวันปกติให้มากที่สุด ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่งทั่วประเทศ และที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.
นอกจากนี้ กรณีของผู้ที่จะโพสต์หรือแชร์ข้อมูล ภาพ หรือคลิปเหตุการณ์ต่อนั้น จำเป็นต้องใช้ "สติ"และ "วิจารณญาณ"ให้มาก พึงเคารพสิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนคำนึงด้วยว่าสิ่งที่จะส่งต่อไปนั้นจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว