กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
จากข่าวการเกิดอุบัติที่สร้างความสูญเสียให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่จังหวัดตรัง ทำให้แนวทางการในการป้องกันและดูแลไม่ให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงานถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง โดยเรืออากาศเอก นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาย้ำถึงแนวทางด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยได้ระบุว่า สพฉ.ได้จัดทำคู่มือจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งในหนังสือคู่มือเล่มนี้จะบอกรายละเอียดเรื่องแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการจัดทีมวิเคราะห์และจัดการด้านความปลอดภัยของบุคลลากรที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยได้เปิดให้มีการดาวน์โหลดคู่มือไปศึกษาได้ที่ลิงค์http://www.niems.go.th/th/DownloadFile.aspx?CateType=DataService&ContentId=25571208010859035 และยังได้ย้ำว่าแนวทางในการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของ พญ.จันทิรา แก้วสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.พระนั่งเกล้า ที่ระบุว่า ในการออกปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองก่อนทุกครั้ง เพราะหากเราอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัยก็จะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ดังนั้นทุกครั้งที่ต้องออกเหตุช่วยเหลือผู้ป่วย ต้องตั้งสติให้ดีและยึดหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของตนเองดังต่อไปนี้ 1. เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุแล้วจะต้องสำรวจถึงสถานที่ที่เกิดเหตุว่าคือที่ไหนและสังเกตว่าสถานที่เกิดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนหรือไม่ และหากมีความเสี่ยงก็ให้รีบประสานให้มีการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยอื่นๆ อาทิเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยการจราจรให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกขึ้น และจะต้องมีการวางกรวยจราจรให้ห่างจากจุดเกิดเหตุอย่างน้อย 50 เมตร หากไม่มีจะต้องหากิ่งไม้ขนาดใหญ่มาวางไว้ให้ประชาชนที่ขับรถสัญจรไปมาสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญควรจอดรถปฏิบัติงานให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย
2.ในส่วนของเรื่องสภาพแวดล้อมผู้ปฏิบัติงานจะต้องสำรวจความเสี่ยงอาทิ สภาพแวดล้อมที่เราจะเข้าให้การช่วยเหลือนั้นมีกลิ่นแก๊สหรือไม่ หรือมีสายเสาไฟหักล้มหรือไม่ เราจะต้องเช็คอย่างละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ และขอเสนอว่าอุบัติเหตุจราจรทุกเหตุการณ์อยากให้ผู้ที่เข้าให้การช่วยเหลือโทรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อที่จะได้มาช่วยกั้นการจราจรให้เจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และนอกจากนั้นอาจจะมีหน่วยอื่นที่เราอาจจะต้องขอความช่วยเหลือเช่นการไฟฟ้า หรือว่า หน่วยเสริมที่จะเข้ามาช่วยในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก และ 3. ในกรณีกลางคืนเราควรจะเตรียมเครื่องมือที่ใช้ส่องสว่างในพื้นที่เกิดเหตุให้เพียงพอ
"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนเองจะต้องมีวินัยจราจร เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่จะต้องชะลอรถอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.พระนั่งเกล้ากล่าว
ขณะที่นายวสันต์ ศุภศรี เจ้าหน้าที่กู้ชีพจากมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่า "อยากให้เจ้าหน้าที่ที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านยึดหลักว่าก่อนที่จะไปช่วยผู้อื่นได้นั้นเราจะต้องปลอดภัยก่อน เพราะถ้าหากเราไม่ปลอดภัยหรือกลายเป็นผู้ประสบเหตุเสียเองก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้องๆ อาสาที่ที่ยังอยู่ในวัยเด็กๆ ตนเข้าใจว่าทุกคนมีใจที่อยากจะช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต แต่เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักสูตรความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้เรียนรู้มาอย่างเคร่งครัดและเมื่อเวลาไปถึงที่เกิดเหตุ ขอให้มีสติและคิดถึงสิ่งที่เราได้อบรมมา และนำมาใช้ บางครั้งไปถึงที่เกิดเหตุเห็นคนไข้ร้องโอยๆ ลงไปช่วยเลยไม่ได้ จะต้องคิดถึงความปลอดภัยที่จะเกิดซ้ำทั้งสำหรับตัวเองและผู้ประสบภัยด้วย นอกจากนี้ตนก็อยากฝากถึงผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ หากเห็นเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานก็อยากอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างปลอดภัยด้วย
นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนบางส่วนถึงการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดพ้นจากวิกฤต ความช่วยเหลือที่ต้องแลกมาพร้อมกับความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติซ้ำซ้อนได้เพียงแค่เราขับรถตามกฏจราจร ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด และเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานก็ให้ชะลอความเร็วและเบี่ยงทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยเพื่อเป็นการต่อชีวิตลมหายใจของผู้ป่วยทุกๆ คนให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที