STC ทุ่มทุนมหาศาล ก้าวสู่ท่าอากาศยานครบวงจร

ข่าวทั่วไป Monday May 15, 2017 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม จากนโยบายของภาครัฐในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการบินของอาเซียนส่งผลให้ทิศทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านการบินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นไปทั่วทุกภูมิภาคเนื่องจากไม่สามารถผลิตบุคลากรในด้านดังกล่าวได้เพียงพอกับความต้องการ เส้นทางอาชีพในด้านนี้จึงยังมีช่องทางให้บัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานและนับว่าเป็นอาชีพที่มีความขาดแคลนสูง อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม มีนโยบายในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงได้ก่อตั้ง "วิทยาลัยการบินนานาชาติ STC" ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดอาชีพ และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการบินของอาเซียนจนถึงของโลกในอนาคต ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี และผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามได้เปิดวิทยาลัยการบินนานาชาติ STC ณ สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โพธาราม ราชบุรี ซึ่งนับเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคที่เปิดการเรียนการสอนแบบครบวงจรในด้านธุรกิจการบิน "เราทุ่มงบประมาณในการสร้างหลักสูตร สถานที่ ให้กับวิทยาลัยการบินนานาชาติ STC เป็นจำนวนมหาศาล และจะลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ในการพัฒนา ที่เราได้เปรียบสถาบันอื่นๆ คือ การมีสนามบินเป็นของตัวเองเพื่อใช้ในการเรียนการสอน คือ สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริงและคณาอาจารย์ที่เป็นตัวจริงด้านการบิน สนามบินของเราถือเป็นสนามบินที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยมีความยาวรันเวย์ 1.5 กิโลเมตร และเป็นเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับใบอนุญาตการบินอย่างเป็นทางการจากกรมการบินพลเรือน" นอกจากนี้ วิทยาลัยการบินนานาชาติ STC ยังได้ทำความร่วมมือทั้งทางวิชาการและทางด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงในด้านการบินในต่างประเทศจำนวนมาก อาทิเช่น Aviation Competence Center ( ACC), Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ Archen University ประเทศเยอรมัน University of New South Wales, Airline Academy of Australia, Aviation of Australia, TAFE NSW South Western Sydney, Aerospace Training Services จากประเทศออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้มีความแข็งแกร่งในเรื่องวิชาการ ที่สำคัญนักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริงกับสนามบินจริง เครื่องบินจริงจึงสามารถสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ด้านการบินอย่างสมบูรณ์ก่อนเข้าทำงานจริง นับเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันวิทยาลัยการบินนานาชาติ STC ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน (Aviation Maintenance) เป็นหลักสูตรแรก และจะเปิดหลักสูตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (Private Pilot License – PPL) หลักสูตรนักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot License – CPL) หลักสูตรบริหารจัดการอากาศยาน (Aviation Management) หลักสูตรบริหารความปลอดภัยท่าอากาศยาน (Safety Management) หลักสูตรบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management) หลักสูตรบริหารจัดการสนามบิน (Airport Management) หลักสูตรบริหารจัดการสายการบิน (Airline Management) และหลักสูตรบริการจัดการขนส่งทางอากาศ (Air Cargo Management) เป็นต้น โดยตั้งเป้าให้วิทยาลัยการบินนานาชาติ STC สามารถบริหารด้านการรักษาอากาศยานครบวงจรภายใน 5 ปี "หลักสูตรของเราจะมีความโดดเด่น เพราะเราใช้คณาจารย์และทีมงานมืออาชีพที่รู้จริงทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติจากสายวิชาชีพจากทั่วโลก เราเน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะในสายวิชาชีพนี้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ เราจะต้องปูพื้นให้กับเขาตั้งแต่เริ่ม ทุกหลักสูตรของเราเป็นระดับปริญญาตรี รับนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเรามีความมั่นใจว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีในด้านดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ที่กว้างขึ้น เพิ่มมุมมอง และสร้างวิสัยทัศน์ให้กับเขา ที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ หรือ Career Path ได้เป็นอย่างดี" ดร.ฐกฤต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ