กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--โรงพยาบาลพระรามเก้า
สภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้คนเกิดอาการเพลียแดดเท่านั้น เรื่องสุขอนามัยของอาหารก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเป็นเหตุให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนสลับกับมีฝนตก จึงทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหารได้มากขึ้น
นพ.ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย อายุแพทย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนสิ่งที่ควรระวังให้มากคืออาหารที่ใช้บริโภค เพราะช่วงนี้อาหารจะมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆแล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ทันทีรวมถึงถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทานก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ โดยโรคอาหารเป็นพิษมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ภายหลังจากการรับประทานอาหารและอาการที่พบคือ อุจจาระร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้บางเชื้ออาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รายที่ท้องเสียมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยการดูแลผู้ป่วยในระยะเบื้องต้นควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลว เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น น้ำแกงจืด น้ำหวาน โจ๊ก หรือข้าวต้มใส่ซีอิ๊ว น้ำปลาและให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ทุกครั้งที่ถ่ายเหลวปริมาณมาก ไม่ควรงดอาหารในระหว่างท้องร่วง แต่ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมผัก ปลา เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย หลีกเลี่ยงนม และผลิตภัณฑ์จากนม อาหารรสจัด กาแฟ สุรา และไม่จำเป็นต้องกินยาหยุดถ่าย เพราะภาวะอุจจาระร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เองและการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสีย สารพิษ และเชื้อโรคออกจากร่างกาย โดยการรักษาดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก ปวดเบ่งอยากถ่ายคล้ายถ่ายไม่หมด ปวดท้องมาก อาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ มีภาวะปอดเป็นพิษคล้ายมีไข้ ถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการ โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ และใช้เฉพาะในรายที่เป็นบิด (Dysentery) กลุ่มติดเชื้อลำไส้ใหญ่เท่านั้น และในรายที่อุจจาระร่วงอย่างแรงหรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้ ฉะนั้นจึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
ในช่วงอากาศร้อนนี้ ทุกคนควรระมัดระวังเรื่องอาหารที่รับประทาน ควรทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ผลไม้ควรปอกใหม่หรือปอกเอง หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ และอาหารที่เหลือไว้แต่ไม่ได้แช่เย็น อุ่นร้อนไม่ทั่วถึงเพื่อสุขอนามัยที่ดีของคุณและคนในครอบครัว