กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
"ลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกมะม่วง นางสาวปวริศา วรรณกุล และนางสาวกนกวรรณ สังข์ศิลป์ นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มองสิ่งที่ทุกคนมองไม่เห็นคุณค่า นำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ชาเปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้ สรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ คือสารที่สามารถยับยั้ง หรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน" โดยมี ผศ.ดร.นันช์ชนก นันทะไชย อาจารย์ให้คำแนะนำและที่ปรึกษา
เจ้าของไอเดีย นางสาวปวริศา วรรณกุล บอกว่า ในกระบวนการแปรรูปผลมะม่วงมีส่วนของเปลือกและเมล็ดเป็นส่วนเหลือทิ้งปัจจุบันส่วนเหลือทิ้งจากแผงตลาดเช่น ร้านขายผลไม้สด ร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง บางส่วนทิ้งไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเปลือกมะม่วงมีปริมาณ 12-15 เปอร์เซ็นต์ของผลมะม่วง ซึ่งในเปลือกมะม่วงอุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds) และแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ที่มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ คือสารที่สามารถยับยั้ง หรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน
ที่เลือกมะม่วงน้ำดอกไม้เนื่องจากมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่างๆ มากมาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่จะทำให้ก่อเกิดมะเร็ง เพราะในมะม่วงมี วิตามินซี วิตามินอี และแอโรทีน ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ในการแปรรูปเป็นชา เนื่องจากชาจัดเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมบริโภคในบุคคลทุกกลุ่มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีผู้บริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากน้ำ จึงได้นำเปลือกของมะม่วงน้ำดอกไม้ผลไม้ไทย มีแปรรูปเป็นชาเปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้นำเปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ โดยเลือกเปลือกที่มีลักษณะเรียบเนียนไม่มีรอยเจาะ หรือรอยจากแมลงและวัชพืชต่างๆ นำมาล้างน้ำสะอาดที่มีสารละลายด่างทับทิม ล้างด้วยน้ำสะอาด ผึ่งให้แห้ง และนำมาปอกเปลือก หั่นให้มี 1x3 cm ผึ่งไว้ 15 นาที นวด 10 นาที หมัก 10 นาที จากนั้นนำไปอบที่อุณภูมิ 60 °C ให้ได้ความชื้น 4 % เก็บในถุงปิดสนิท หรือเก็บในโถดูดความชื้น
วิธีการชงชาดื่มตั้งน้ำสะอาดให้เดือด ตั้งทิ้งไว้สักครู่ให้ได้อุณหภูมิน้ำประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส ใส่ชาเปลือกมะม่วงลงไปในกาน้ำ ครั้งแรกเป็นการชำระล้างเศษฝุ่นละออง โดยเทน้ำร้อนให้พอท่วมชาเปลือกมะม่วงจากนั้นเทน้ำทิ้ง จากนั้นเทน้ำร้อนลงไปในกาน้ำที่มีชาเปลือกมะม่วงประมาณ 500 มิลลิลิตรทิ้งไว้ 3-5 นาที เมื่อครบเวลาแล้ว สามารถนำน้ำชาเปลือกมะม่วง มาดื่มได้ทันที โดยจากการนำไปทดลองให้ผู้บริโภคได้ดื่มชา ผู้บริโภคให้การยอมรับทั้งรสชาติ กลิ่น สี โดยในอนาคตสามารถนำชาเปลือกมะม่วงน้ำดอกไม้ไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์การทำชาเปลือกมะม่วงบดเป็นผง ละลายในน้ำเย็น ใส่น้ำแข็งรับประทานได้อีกด้วย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร โทร.0-2592-1955