กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
นางเจนจิรา ธาราพันธ์ ศิษย์เก่า Executive MBA ปี 2014 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Lead Software Process Specialist ของ Reuters Software Thailand หนี่งในสมาชิกทีมสานฝัน ซึ่งได้รับรางวัล Popular Vote จากการแข่งขัน Fintech Challenge 2016 โดยนำเทคโนโลยีทางด้านการเงินที่มีชื่อว่า Blockchain เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านการเงินนี้ จะช่วยในเรื่องความโปร่งใสทางด้านการเงิน ในการรับบริจาคเงินช่วยเหลือขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร การจัดการแข่งขันโดยความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธมิตร ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนไอเดียใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน โดยในปีนี้มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันถึง 160 ทีม จากทั่วประเทศ
นางเจนจิรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ทีมสานฝัน ได้นำเทคโนโลยีที่ที่มีชื่อว่า Blockchain ที่ได้ รับรางวัล มาต่อยอดจัดตั้งองค์กรเพื่อช่วยเหลือชาวนา โดยเปิดเว็บไซต์ ที่มีชื่อว่า www.farmerhope.fund และนำเทคโนโลยีทางด้านการเงิน มาใช้ในการรับบริจาคเงินช่วยเหลือขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งมีถึง 20 เปอร์เซนต์ของคนไทยทั้งประเทศ สำหรับการช่วยเหลือไม่ใช่ในรูปแบบรับเงินบริจาคแล้วใช้หมดไป แต่เป็นองค์กรธุรกิจที่ช่วยเหลืออย่างยั่งยืนและดำเนินการต่อไปได้ด้วยตัวเอง เทคโนโลยี Blockchain นี้จะทำให้ผู้บริจาคสามารถตรวจสอบการนำเงินบริจาคไปใช้ได้ทุกขั้นตอน อย่างโปร่งใส และรู้ที่มาที่ไป เช่น เมื่อมีผู้บริจาคมา 5,000 บาท จะมีเส้นทางการเงินว่า เงินจำนวนดังกล่าวได้นำไปช่วยเหลือชาวนาคนไหน เกี่ยวกับการลงทุนอะไรบ้าง และขั้นตอนของการผลิตตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจำหน่าย เมื่อชาวนามีการจำหน่ายแล้ว ต้นทุนเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ กำไรได้เท่าไหร่
สามารถตรวจสอบได้จริง โดยชาวนาที่ได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องนำเงินทุนกลับมาคืน เพื่อนำไปหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนารายอื่นๆ เพิ่มขึ้นต่อไป เป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านความรู้ทางด้านการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย เราตั้งใจให้องค์กรนี้ เป็นการช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืน โดยลดต้นทุนในการผลิต สนับสนุนเงินลงทุนเพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้ และหาตลาดรองรับ เป็นการทำงานแบบครบวงจร
เว็บไซต์ www.farmerhope.fund ได้เปิดดำเนินการมา 2 เดือนแล้ว มีผู้เข้าชมและกรอกข้อมูลแสดงความตั้งใจที่จะบริจาคช่วยเหลือเป็นมูลค่า 100,000 กว่าบาทแล้ว เงินจำนวนนี้จะสามารถนำเงินไปสนับสนุนชาวนาได้ถึง 10 ราย โดยเป็นการให้ความสนับสนุนทางด้าน พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ปุ๋ย อุปกรณ์ทางการเกษตร และการบำรุงดูแลรักษา สำหรับผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าวร่วมด้วย นายวิทยา กระแสนวล และนางสาวอุมาพร ศรีหุ่น ซึ่งทำงานที่ Reuters Software Thailand เช่นเดียวกัน