กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำและการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำ" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จัดสัมมนาดังกล่าว เพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จาก 12 ปี เป็น 20 ปี ระหว่างปี 2560 - 2579 และเปิดเวทีอภิปราย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการทบทวนยุทธศาสตร์น้ำดังกล่าว จะร่วมกันแก้ไขเรื่องน้ำในภาพรวม โดยจะปรับให้สอดคล้องกับปัญหาน้ำที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 2 น้ำสนับสนุนภาคการผลิต (น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยในยุทธศาสตร์นี้จะต้องทบทวนในประเด็นเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติม เช่น ถนน สะพาน รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัว ซึ่งถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน จะเป็นแผนงานในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่สัมมนา ได้แก่ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยในระยะเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ รวม 93 แห่ง ประกอบด้วย ระบบระบายน้ำ 38 แห่ง สถานีสูบน้ำ 15 แห่ง ประตูระบายน้ำ 40 แห่ง การทบทวนโครงการที่จะสามารถดำเนินการในระยะเร่งด่วนระหว่างปี2560 - 2561 เช่น การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานทั้งตะวันออกและตะวันตก การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น สำหรับการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคกลางในเบื้องนั้นต้น พบว่า มีสิ่งกีดขวางทางน้ำประเภทต่าง ๆ เช่น ถนน สะพาน แนวป้องกันตลิ่ง ท่อระบายน้ำ เป็นต้น จำนวน 221 แห่ง ซึ่งจะร่วมกันกำหนดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ การเสริมสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตและการป้องกันอุทกภัยทั้งระบบ รวมถึงการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในเขตพื้นที่ 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 9 – 30 พฤษภาคม 2560 เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติงานของภาครัฐ พร้อมทบทวนเป้าหมายและมาตรการที่สอดคล้องกัน และส่งต่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ไปจัดทำการรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชนทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ต่อไป รวมถึงระดมสมองแก้ไขและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาและสาเหตุการเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ด้วย