กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--สสส.
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย เผยชื่อ 17 ชุมชนตัวอย่าง หลังเข้าร่วมโครงการชุมชนจักรยานฯ ปี 2 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ฐานทุนเดิมดี แนวคิดเด่น 1) ชุมชนจักรยานตำบลป่าสัก จ.ลำพูน มีทุนเดิมด้านสิ่งแวดล้อม จึงเอาจักรยานเชื่อมกิจกรรมอนุรักษ์ลดการใช้พลังงานและลดขยะ เป็นที่มาของสัญลักษณ์ความปลอดภัยจากวัสดุเหลือใช้ กระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น 2) ชุมชนจักรยานพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ใช้คนจักรยานในพื้นที่ที่เป็นงาน ร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆของตำบลร่วมเป็นคณะทำงาน ทำให้การคิดหรือวางแผนกิจกรรมค่อนข้างเป็นระบบและถูกออกแบบมาแล้วอย่างดี 3) เกาะจักรยานลิบง จ.ตรัง พื้นที่เป็นเกาะ มีถนนปูอิฐตัวหนอนเชื่อมถึงกันประมาณ 15 กิโลเมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดการใช้จักรยานบนเกาะร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ โดยไม่ยากนัก เมื่อมีกระบวนการชุมจักรยานเข้าไปเสริม ลิบงจะกลายเป็นเกาะที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้จักรยานมากกว่ามอเตอร์ไซค์ 4) ชุมชนบ้านดูกู อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านกายภาพที่เอื้อให้ใช้จักรยาน เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ ถนนทุกเส้นเชื่อมต่อถึงกันหมด มัสยิด เป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวชุมชนที่นี่ เช่นเดียวกับการปั่นสิกา(จักรยาน)ไปละหมาดทุกวันศุกร์ แม้จะเป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะเหตุการณ์ไม่สงบ แต่ทุกวันนี้กริ่งจักรยานเริ่มที่จะดังมากกว่าเสียงระเบิดแล้ว
แกนนำหลากหลาย สร้างภาคีร่วม 5) ชุมชนจักรยาน ทต.เมืองพาน จ.เชียงราย มีแกนนำขับเคลื่อนที่หลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะท้องถิ่นที่เข้มแข็ง หากแต่ได้รับความร่วมมือจาก อสม. ผู้สูงอายุ เยาวชน และส่วนราชการในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ 6) ชุมชนจักรยานวิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง ที่สนับสนุนให้เกิดการใช้จักรยานกับคน 3 วัย " ขาแรง /ขากลาง/ขาอ่อน" ช่วยลดจำนวน "เด็กแว้น" เพราะเด็กแว้นหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น และกำลังก่อร่างสร้างตัวเป็นกลุ่ม "เด็กจักรยานวิเศษฯ" 7) ชุมชนจักรยานตำบลปง จ.พะเยา ประสานและสร้างความร่วมมือกับ ม. พะเยา ในโครงการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกด้วยการใช้จักรยาน ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการศึกษา การทำวิจัยชุมชนร่วมกัน
กิจกรรมสร้างสรรค์ ประชาสัมพันธ์นำทาง สร้างมวลวิกฤต (Critical Mass) 8) ชุมชนถนนปลอดภัยบ้านท้ายคุ้ง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อมีทีวีลงพื้นที่ ชุมชนก็ลุกฮือขึ้นมาปั่น จากการที่โทรทัศน์ช่อง 3 มาถ่ายทำรายการเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ ส่งผลดีทำให้มีผู้ใช้จักรยาน และมีแกนนำเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9) ชุมชนจักรยานบ้านฝาง จ.ขอนแก่น มีการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวในชุมชน เชิญชวนให้ชาวบ้านมาใช้จักรยานและส่งเสริมให้เยาวชนมาปั่นจักรยานแทนการเล่นเกมออนไลน์ในวันอาทิตย์จนเกิดทูตน้อยชวนปั่น และ 10) ชุมชนนาหนุน จ.น่าน แกนนำเป็นเยาวชน กลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเด็กและเยาวชนเป็นหลัก จากความเป็นเยาวชนนี้เอง จึงออกแบบกิจกรรมได้น่าสนใจ ดึงดูดกลุ่มเด็ก-เยาวชนให้เข้าร่วมได้มาก มีกิจกรรมปั่นไปจับโปเกม่อน พร้อมกันนั้นเด็กๆก็ได้สำรวจชุมชนไปด้วยในตัว ลักษณะเดียวกันกับ 11) ชุมชนจักรยานตำบลตาขัน จังหวัดระยอง มีกิจกรรม "ปั่นมา-ลดให้" เป็นการทำงานร่วมกับร้านค้าในชุมชน สร้างแรงจูงใจด้วยการ "ลดราคาสำหรับผู้ใช้จักรยานมาซื้อของ" เริ่มต้นที่ร้านของแกนนำนำร่อง จาก 3 ร้าน ปัจจุบันนี้เข้าร่วมโครงการนับเป็นสิบๆร้าน
เชื่อมร้อยภารกิจ บูรณาการงาน 12) ชุมชนบ้านบุ่งเข้ จ.นครนายก สร้างกิจกรรมทางสังคมโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม อาทิ ปั่นจักรยานร่วมกันในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ปั่นไปเก็บขยะ ปั่นไปพัฒนาชุมชน ปั่นเพื่อออกกำลังกาย เป็นต้น เมื่อกิจกรรมหลากหลาย ก็ชวนให้ชุมชนตั้งตาและรอเพื่อร่วมตลอดๆ 13) ชุมชนนาท่อม จ.พัทลุง ทำงานแบบบูรณาการใช้จักรยานเข้ากับภารกิจอื่นๆ เพราะแกนนำเป็นประธานศูนย์พัฒนาครอบครัว สามารถผนวกกิจกรรมของศูนย์เข้ากับกิจกรรมจักรยาน ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ลดภาระงานนับเป็นการบริหารจัดการที่ดี เช่นเดียวกับ 14) ชุมชนบ้านบ่อหว้าสามัคคี จ.สงขลา แกนนำสวมหมวกหลายใบ รับผิดชอบหลายบทบาท จึงนำแผนงานของแต่ละโครงการขึ้นมากางและวางแผนร่วมกัน เช่น กิจกรรม อสม. ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง เดิมใช้มอเตอร์ไซค์ ปัจจุบันปั่นไปแทน หรือกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เหลือจากกินเอาออกขายด้วยจักรยานพ่วงข้าง กิจกรรมลดละเลิกพฤติกรรมเด็กเสี่ยง ด้วยการชวนเด็กมาปั่น มาซ่อมจักรยาน เป็นต้น เช่นเดียวกับชุมชนทางเหนือ 15) ชุมชนหนองออน แม่แตง จ.เชียงใหม่ จัดทำกองทุนจักรยานสวัสดิการเพื่อคนทำงาน และตัวอย่างโรงเรียนจักรยานในชุมชน และ 16) ชุมชนจักรยานตำบลโคกเพชร จ.ศรีษะเกษ จัดทำ "กองทุนผ้าอ้อม" เอากำไรที่ขายจักรยานและเสื้อที่ระลึกไปซื้อผ้าอ้อมมอบให้ผู้ป่วยติดเตียง นับเป็นกระบวนการทางสังคมและใช้จักรยานเป็นเครื่องมือรูปแบบใหม่ของการพัฒนาชุมชน สุดท้ายครับ 17) ชุมชนจักรยานหนองไม้แก่น จ.กาญจนบุรี ใช้หลักบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) นำทาง ส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานจนเต็มพื้นที่
นายอารดินทร์ รัตนภู ผู้จัดการโครงการฯ ให้ข้อมูลข้างต้นและเสริมว่า "จริงๆแล้วมีอีกหลายพื้นที่ที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีได้ แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ของชุมชน แกนนำมีความมุ่งมั่น ตั้งใจกันมาก ซึ่งในเวทีปิดโครงการช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้ ตัวอย่างที่ดีๆก็จะถูกเสนอต่อสื่ออีกครั้งครับ"
ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันฯ และผู้ริเริ่มโครงการ "ชุมชนจักรยาน" กล่าวว่า "การขี่จักรยานเป็นเหมือนกระสุนนัดสำคัญที่ยิงออกไปแล้วได้ประโยชน์มากมายตามมา ตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพเมือง สิ่งแวดล้อมในเมืองมันก็ดีขึ้น และการปั่นจักรยานก็เป็นส่วนหนึ่งในการเจือจางปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้รถยนต์เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หากเราสามารถเดินทางไปกลับที่ทำงานด้วยจักรยานได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งน้ำมันเชื้อเพลิง ยิ่งมีคนใช้จักรยานมากขึ้น และใช้รถยนต์น้อยลงเท่าไร สิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งดีขึ้นไปด้วย แนวคิดชุมชนจักรยาน เป็นการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เมื่อฐานรากของประเทศเข้มแข็ง ความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้น จักรยานจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ ของโลกได้ครับ "
สำหรับผู้ที่สนใจใน โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 2 หรือชุมชนจักรยานต่างๆ ทั่วประเทศ จะสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2618-4434, 0-26185-990 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป