กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักวิชาการด้านสื่อสารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองการออกแนวทางการปฏิบัติหรือข้อกฎหมาย OTT ของ กสทช.ช่วงเดือนสิงหาคมเร็วเกินไป ซึ่งอาจไม่เกิดผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคพร้อมแนะให้หาทางออกร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันมองการเสนอแนวทางแก้ไขของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลและผู้ประกอบการแบบบอกรับสมาชิก ต่อ กสทช. บางข้อมาถูกทางแล้ว ทั้ง การส่งเสริมให้ผู้ชมมีความรู้เท่าทันสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์รวมถึงการกลั่นกรองเนื้อหาให้เหมาะสมกับการออกอากาศ แต่ กสทช.ควรเน้นการดูแลเนื้อหาออกอากาศเพื่อไม่ให้ OTT ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ชี้หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อวงการโทรทัศน์ไทยแม้จะไม่ได้กระทบทั้งหมด
ผศ.กุลนารี เสือโรจน์ อาจารย์กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า จากกรณีการแก้ปัญหาการให้บริการแพร่เสียงและภาพผ่านโครงข่ายอื่นนอกจากโครงข่ายวิทยุและโทรทัศน์แบบเดิม หรือ OTT (Over-the-top ) มองว่า กสทช. ควรหาทางออกร่วมกับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการและผู้สร้างคอนเท้นท์จำนวนมากที่เข้าข่ายดังกล่าว โดยล่าสุดที่ ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล มีข้อเสนอต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาซึ่งถือว่าตามหลักการแล้วเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เนื่องจากหน้าที่หลักของ กสทช.คือการกำดับดูแลไม่ใช่การควบคุม จึงต้องรับฟังความคิดเห็นก่อนการนำข้อมูลที่ได้ไปประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกกลุ่ม ซึ่งบางข้อเสนอนั้นถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่ควรให้ความสำคัญ ทั้ง การส่งเสริมให้ผู้ชมมีความรู้เท่าทันสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์รวมถึงการกลั่นกรองเนื้อหาให้เหมาะสมกับการออกอากาศ และจากการที่ กสทช.ตั้งเป้าไว้ว่าจะออกแนวทางการแก้ไขเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 อาจจะเร็วเกินไป เพราะอยากให้ได้แนวทางการกำกับที่มาจากความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงจากจุดยืนของหลายๆฝ่าย
ผศ.กุลนารี กล่าวต่อว่า หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะเกิดผลกระทบต่อวงการโทรทัศน์ไทยแน่นอน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะในอีกมุมมองจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระตุ้นเรื่องความตื่นตัวในการพัฒนาเนื้อหาเพราะผู้บริโภคในตลาดทีวีมีหลายกลุ่ม และเลือกบริโภคตามแนวทางการใช้ชีวิต