กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กรมประมง
"กรมประมง" แถลงผลการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย 3 เดือนปี 60 เห็นผลทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นชัดเจน ผลสำรวจหลังมาตรการพบฝูง "ปลาทู" สัตว์น้ำเศรษฐกิจกลับมาชุกชุม ชาวประมงทำผิดกฎหมายน้อยลง ส่วนใหญ่ร่วมใจไม่ใช้เครื่องมือต้องห้าม หนุนสร้างอาชีพที่มั่นคงจากการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง แถลงถึงผลการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูในอ่าวไทยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฝั่งทะเลอ่าวไทยประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง15 พฤษภาคม 2560 รวมระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งยังได้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าวในบางข้อเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เครื่องมือการทำประมงมีศักยภาพสูงขึ้นและทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำมากขึ้นจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1.เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยประกาศฉบับนี้สิ้นผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา และ 2.เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมง ในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งซึ่งห้ามใช้เครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง โดยประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงในเขตระยะ
7 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ยกเว้นการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนช้อน อวนครอบ และอวนยกหมึก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบังคับใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560
ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเครื่องมือที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทรัพยากร รวมถึงพื้นที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวไทยมากขึ้น โดยผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งในส่วนของมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครอง จึงส่งผลให้ผลการบังคับใช้ประกาศฯ ดังกล่าวเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงตามมาตรการปิดอ่าวไทยของกรมประมง จากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 52 ครั้ง พบการกระทำความผิดรวม 11 คดี ได้แก่
/การใช้...
- การใช้เครื่องมืออวนลากประกอบเรือยนต์ทำการประมงในเวลากลางวัน ในพื้นที่บังคับใช้มาตรการฯจำนวน 2 คดี พบผู้กระทำผิด 10 ราย
- ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง จำนวน 2 คดี ผู้กระทำผิด 9 ราย
- ใช้เรือซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฏหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกทำการประมง จำนวน 6 คดี ผู้กระทำผิด 7 ราย
- ตรวจยึดเครื่องมืออวนรุน 1 คดี
ทั้งนี้ จากการสำรวจติดตามสถานการณ์ในเขตปิดอ่าวและบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่กรมประมงใช้เครื่องมือตรวจสอบฝูงปลา (Sounder) ตรวจพบพ่อแม่พันธุ์ปลาจำนวน 3,000 กิโลกรัม และฝูงลูกปลาจำนวน 10,000 กิโลกรัม บริเวณเกาะพะงัน และยังพบข้อมูลชาวประมงพื้นบ้านจับปลาทูขนาดใหญ่ได้บริเวณอ่าวชุมพร โดยใช้เครื่องมืออวนติดตาขนาดไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว นอกจากนี้ในต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังได้รับรายงานว่าพบฝูงลูกปลาทูขนาดเล็กชุกชุมจำนวนมากบริเวณห่างฝั่ง 3-5 ไมล์ทะเล ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลบริเวณฝั่งอ่าวไทยเริ่มฟื้นคืนกลับมา
อธิบดีฯ แถลงต่อไปว่า เนื่องจากประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมพื้นที่แนวฝั่งทะเล ที่จะทำให้ลูกปลาทูขึ้นมาเจริญเติบโตบริเวณอ่าวตอนในได้ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพ
โดยครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงออกประกาศ เรื่อง กำหนดเครื่องมือ ทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในพื้นที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2560 เพิ่มเติมจากเดิม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 เช่นเดียวกัน โดยประกาศฉบับนี้ได้ห้ามใช้เครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง โดยใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากข้อมูลการศึกษาทางวิชาการของการควบคุมมาตรการปิดอ่าวไทย สามารถยืนยันได้ว่า "ปลาทูไทย ไม่ได้หายไปไหน" แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือ ร่วมใจ ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู งดเว้นการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำใน ฤดูวางไข่ ซึ่งจะสามารถทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้ตามธรรมชาติ