กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลติดตามโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ระบุ มีช่างเกษตรท้องถิ่นได้รับการอบรมแล้วจนถึงมีนาคม จำนวน 2,275 ราย โดยเกษตรกรในหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 1 สามารถลดรายจ่ายค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรฯ ได้ 304 บาท/เครื่อง พร้อมนำความรู้ไปใช้และขยายต่อไปยังเพื่อนเกษตรกรในชุมชน
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามผล 3 กิจกรรม พบว่า
กิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการจัดอบรมเกษตรกรในหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 1 2 และ 3 แล้ว (ณ เดือน มีนาคม 2560) จำนวน 2,275 ราย โดยเกษตรกรในหลักสูตรระดับ 1 (40 ราย) และระดับ 2 (24 ราย) จำนวนร้อยละ 70 มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องจักรกลการเกษตรมาก่อน และมีการเปลี่ยนแปลงหลังนำความรู้ไปปฏิบัติใช้ โดยช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 1 จำนวนร้อยละ 95 นำความรู้ไปใช้และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรได้เฉลี่ย 304 บาท/เครื่อง มีการขยายผลความรู้ไปยังเกษตรกรใกล้เคียงในสัดส่วน 1 : 5 ราย ส่วนช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 2 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการอบรม ร้อยละ 100 คาดว่าจะนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพเสริมและถ่ายทอดให้เกษตรกรในชุมชน
กิจกรรมบริการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปี 2560 มีการจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ในจังหวัดร้อยเอ็ด (22 ธ.ค.59) และจังหวัดมหาสารคาม (17 ม.ค. 60) รวมเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสองแห่ง 231 คน ซึ่งพบว่า เกษตรกร ร้อยละ 97 ที่เข้าร่วมงาน เห็นว่ากิจกรรมการสาธิตเป็นประโยชน์และตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร (การไถกลบตอซังฟางข้าว) การสาธิตการเตรียมดิน และการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่างๆ และได้รับการสนับสุนนวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เช่น สารปรับปรุงบำรุงดิน ปูนขาว และน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการไถกลบตอซังในพื้นที่ของเกษตรกร ตำบลบึงนคร อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 210 ไร่ รวม 49 ราย และพื้นที่ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 116 ไร่ รวม 23 ราย
กิจกรรมบริการการเตรียมดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2559 พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร ร้อยละ 76 ใช้วิธีเตรียมดินด้วยวิธีจ้างรถเตรียมดินของเอกชน และร้อยละ 24 ใช้รถเตรียมของตนเอง แต่หลังเข้าร่วมโครงการในปี 2559 เกษตรกรร้อยละ 71 มีการใช้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรของศูนย์ฯ ส่วนร้อยละ 29 ยังไม่ได้ใช้บริการ เนื่องจากบางราย ไถระเบิดดินดานในพื้นที่ของตนเองไปแล้วก่อนเข้าโครงการ และยังไม่ได้ทำการผลิตมันสำปะหลัง ทั้งนี้ ภาพรวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจต่อตัวโครงการในระดับมาก ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์โครงการ ด้านการถ่ายทอดความรู้ และด้านการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าความรู้ที่ได้รับสามารถนำมาปรับใช้และลดค่าใช้จ่ายได้จริง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ควรเพิ่มระยะเวลาการอบรมในแต่ละหลักสูตร สถานที่จัดฝึกอบรมควรอยู่ในหมู่บ้านเพื่อสะดวกในการเดินทาง และเพิ่มเนื้อหาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย ส่วนกิจกรรมบริการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควรเพิ่มพื้นที่เป้าหมายในการให้บริการสาธิตการไถกลบตอซังให้มากขึ้น เพิ่มความรู้ในเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และในส่วนของศูนย์บริการการเตรียมดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ควรพัฒนาบริการได้ทันต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เชื่อมโยงการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรสมาชิก และร่วมมือกับเกษตรกรในชุมชนใกล้เคียงให้มีส่วนร่วมในโครงการให้มากขึ้น รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย