กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--บลจ.กสิกรไทย
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับอัตราการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของหลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและขยายตัวสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ระดับราคาหุ้นเอเชียยังถือว่าถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเอเชีย (ดัชนี MSCI Asia ex. Japan) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 16 พ.ค. 2560 ตลาดหุ้นเอเชียพุ่งสูงขึ้นกว่า 19%
"ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียมีความน่าสนใจเข้าลงทุน มาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่มีอยู่สูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นำโดยเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดีย โดย IMF คาดว่า GDP ของอินเดียปี 2560 นี้จะเติบโตอยู่ที่ 7.2% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ออกมาในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวดีกว่าที่คาด โดย GDP เติบโตอยู่ที่ 6.9% จากปีก่อนหน้า ด้านเศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตดีขึ้นในไตรมาสแรกของปีจากการฟื้นตัวของการส่งออก รวมไปถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศในเอเชียยังเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสามารถขยายตัวได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ระดับราคาหุ้นก็ยังต่ำกว่า โดยราคาหุ้นเอเชียปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต" นายนาวินกล่าว
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า ส่วนปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องระดับหนี้สินและราคาอสังหาฯที่อาจสะท้อนการเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน รวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายคาดว่าจะมีจำกัด เนื่องจากตลาดค่อนข้างรับรู้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไปมากแล้ว ทั้งนี้ด้วยมุมมองการลงทุนในระยะยาวบลจ.กสิกรไทยมองว่าด้วยปัจจัยบวกต่างๆ ที่กล่าวมา นับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ลงทุนสามารถทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นเอเชียเพิ่มเติมได้ ซึ่งบลจ.กสิกรไทยมีกองทุนแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดเค เอเชียน สมอลเลอร์ หุ้นทุน(K-ASIA) ที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง
กองทุน K-ASIA มีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในเอเชียผ่านกองทุนหลัก Templeton ASEAN Smaller Companies Fund ซึ่งบริหารจัดการโดย Franklin Templeton Investments บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียยาวนานกว่า 40 ปี ปัจจุบันกองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในรายประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย 25.18%, เกาหลีใต้ 20.26%, จีน 13.40%, ไต้หวัน 12.81% และฮ่องกง 5.63% และให้น้ำหนักการลงทุนในรายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มไอทีและกลุ่มการเงิน (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2560)
ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน K-ASIA ณ วันที่ 30 เม.ย 2560 มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยตั้งแต่ต้นปีให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 17.64% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 13.12%, ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 21.0% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 12.60% ต่อปี และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 8.07% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 3.46% ต่อปี นอกจากนี้กองทุน K-ASIA ยังได้รับการจัดอันดับเรตติ้ง 4 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูลจากMorningstar® ณ 30 เม.ย. 2560)
ผู้ที่สนใจสามารถลงทุนในกองทุน K-ASIA ได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500 บาท โดยขอรับหนังสือชี้ชวนและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือสอบถาม KAsset Contact Center 0 2673 3888
กองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
3เดือน 6 เดือน 1 ปี(ต่อปี) 3 ปี (ต่อปี) ตั้งแต่ต้นปี
กองทุนK-ASIA 10.90% 8.19% 21.00% 8.07% 17.64%
Benchmark 9.01% 8.53% 12.60% 3.46% 13.12%
ที่มา: บลจ.กสิกรไทย วันที่ 30 เม.ย 2560
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน K-ASIA ได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน K-ASIA ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้