กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--อย.
อย. ย้ำจุดยืนจีเอ็มโอตามมติ กนศ. ที่ยอมรับให้นำมาเป็นอาหารได้เฉพาะที่ผ่านการประเมินแล้วว่าปลอดภัยสำหรับมนุษย์ สำหรับกรณีอาหารทารกและเด็กอ่อน จะเร่งรัดมาตรการไม่ให้ใช้อาหาร จีเอ็มโอมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยยืนยัน ส่วนการติดฉลากคาดว่า
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรณีอาหารตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันที่จะปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีมติตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2542 ว่า อาหารตัดแต่งพันธุกรรมที่จะยอมรับให้นำมาเป็นอาหารได้เฉพาะเมื่อผ่านการประเมินแล้วว่าปลอดภัยสำหรับมนุษย์เท่านั้น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นประเด็นที่ อย. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด สำหรับกรณีที่กลุ่มกรีนพีซได้ตรวจสอบพบว่ามีอาหารทารกและเด็กอ่อนบางยี่ห้อปนเปื้อนจีเอ็มโอ อย.มิได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการตรวจสอบข้อมูลกับผู้ผลิตและผู้นำเข้าฯ อาหารดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่มีการใช้วัตถุดิบที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมในการผลิต และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย.จะเร่งรัดมาตรการเพื่อไม่ให้มีการใช้อาหารตัดแต่งพันธุกรรมมาเป็นวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยที่มากเพียงพอ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา อย.มีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งคำตอบที่ได้ในขณะนี้สามารถตอบได้แค่เพียงว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอหรือไม่เท่านั้น เท่ากับที่ทางกรีนพีซมีข้อมูล แต่ยังไม่ทราบถึงปริมาณการปนเปื้อนว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งในการปฏิบัติจำเป็นต้องทราบปริมาณด้วย เพราะข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่จะบ่งบอกถึงเจตนาของผู้ผลิตว่าเจตนานำวัตถุดิบที่เป็นจีเอ็มโอมาใช้ผลิตหรือไม่ และเป็นข้อกำหนดในการแสดงฉลากด้วย โดยในแต่ละประเทศมีการกำหนดไม่เท่ากัน เช่น ประเทศในยุโรป กำหนดไว้ว่าหากมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ต่ำกว่า 1 % ไม่ต้องระบุข้อมูลบนฉลาก ส่วนในประเทศญี่ปุ่น กำหนดไว้ถึง 5% เป็นต้น
เลขาธิการฯ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวต่อไปว่า กรณีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ อย. จะ เร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในสิ้นปีนี้ โดยมีกำหนดเวลา คือ คณะทำงานร่างประกาศเรื่องฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารตัดแต่งพันธุกรรมพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2544 จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2544 โดย อย.จะมีการประมวลความคิดเห็นและสรุป แก้ไขร่างประกาศภายในเดือนตุลาคม 2544 จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการอาหารพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 และคาดว่าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในเดือนธันวาคม 2544 นี้--จบ--
-สส-