กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ทำอย่างไร "คนรุ่นใหม่" จึงจะสนใจเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนท้องถิ่น... คือโจทย์ที่ผู้ใหญ่หลายคนตั้งคำถาม
คำตอบอยู่ที่ชุมชนบ้านแต้พัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะพี่ที่ต้องรวบรวมเด็กๆ ทำกิจกรรมยามว่างหรืออาสาช่วยงานบุญในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง เมื่อโอกาสเปิด พี่แอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร จึงผันตัวเองจาก "พี่เลี้ยงเด็ก"มาเป็น "พี่เลี้ยงโครงการ" อย่างสมบูรณ์แบบเมื่อเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ
ด้วยมองเห็น "ทุน" ชุมชนที่แข็งแกร่ง พี่แอ๊ดจึงคิดใช้โอกาสนี้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กในชุมชนรู้จักรากเหง้าความเป็นมา และคุณค่าของผ้าไหมโซดละเวที่นับวันจะเหลือคนทอน้อยลงไปทุกที พี่แอ๊ดจึงรวมกลุ่มเด็กๆ ในชุมชน คือ เต๋า-อภิชาต วันอุบล คิด-สุกฤตยา ทองมนต์ บุ๋ม-ศรีประทุม โพธิสาร ตาล-ดาริตา โพธิสาร แตงโม-พาฝัน ไพธิ์กระสังข์ ทำโครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว
กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นขึ้นจากการสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน การที่เด็กๆ ได้พาตัวพาใจไปสัมผัสกับปราชญ์ผู้รู้ต่างๆ นอกจากจะเด็กจะได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนและผ้าไหมโซดละเวแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ดีระหว่างคนสองวัยขึ้นอีกด้วย รวมถึงการเก็บข้อมูลว่าปราชญ์บ้านไหนเก่งเรื่องอะไร แยกประเภทหมวดหมู่ข้อมูล ทั้งเรื่องค่านิยมความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งเส้นทางก่อนจะมาเป็นเส้นไหมสีสวย ซึ่งเรื่องราวจากผืนผ้าที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ไม่ว่าจะเป็น ลายผ้า วิธีการใช้ผ้าในพิธีกรรมต่างๆ ในรอบปี ถูกรวบรวมเป็นองค์ความรู้ให้ชุมชนไว้ใช้ประโยนช์ต่อไป
"ความรู้ที่เด็กๆ ได้รับคือการ "เก็บ แกะ เกิด" เก็บคือ การรวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ปราชญ์ชุมชน ที่นำไปสู่กระบวนการ แกะที่หมายถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ลงบนผ้าไหมจนเกิดลวดลายต่างๆที่วิจิตรงดงาม ส่วนเกิดคือองค์ความรู้ในกระบวนการทอผ้าไหมโซดละเว เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้ง 2 สิ่งนี้เขาก็จะเกิดความรักและหวงแหนภูมิปัญหาของตนจนนำไปสู่การรักษาในที่สุด
โดยทุกชั้นตอนของการเรียนรู้ พี่แอ๊ดจะออกแบบให้เยาวชนทุกช่วงวัยได้เข้ามามีส่วนร่วม หากเป็นเด็กเล็กเขาจะให้ทำสิ่งง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากเข้าไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าเป็นน้องอนุบาลเริ่มจากการแกว่งไหม ถ้าเป็นพี่โตขึ้นมาหน่อยก็ให้ทอผ้า ใครทอลายไหนเป็นก็แบ่งกันทำ ระหว่างทำก็จะคอยกระตุ้นเรื่องวิธีคิด ให้ลองคิดลายใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่การที่เด็กจะคิดได้นั้นเขาต้องได้ลองทำก่อนจึงจะรู้
ผลจากการเอาตัวเอาใจเข้าไปเรียนรู้ จนสัมผัสได้ว่าตนเองมีของดี ทีมงานคิดเพิ่มคุณค่าผ้าไหมโซดละเวขึ้นด้วยการรื้อฟื้นการย้อมสีธรรมชาติแทนการใช้สีเคมี "กระบวนการสืบค้นข้อมูล" ถูกนำมาใช้อีกครั้ง แต่ครั้งเป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก พืชให้สีที่เห็นอยู่ในชุมชนถูกนำมาทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้สีธรรมชาติที่ถูกตาและต้องใจ จนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนต้องแวะเวียนเข้ามาดู พอเห็นว่าได้สีสวยถูกใจ กลายเป็นกระแสให้คนในชุมชนหันกลับมาให้ความสนใจย้อมผ้าไหมโซดละเวด้วยสีธรรมชาติอีกครั้ง และผลจากการช่างคิดช่างสังเกตที่เกิดระหว่างกระบวนการทำงาน ทำให้ทีมงานสามารถปรับประยุกต์อุปกรณ์ในการมัดหมี่ และร่นวิธีการทำงานได้เร็วขึ้น ด้วยการประดิษฐ์อุปกรณ์ในการเวียนเส้นไหมขึ้นลำหมี่ ที่ใช้การหมุนแทนการพันรอบหลัก 2 ข้าง ทำให้ช่วยลดเวลาในการทำงานจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียงไม่ถึงชั่วโมงเท่านั้น
กระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้เข้าไปสัมผัสกับชุมชนด้วยตัวเอง นอกจากจะได้องค์ความรู้ของผืนผ้าโซดละเวแล้ว ยังปลูกฝังสำนึกรักในรากเหง้าชุมชนท้องถิ่นของตน ดังจะเห็นได้จากการแต่งกายที่แม้จะเป็นวัยรุ่น วัยว้าวุ่น แต่ก็อาจหาญนุ่งโสร่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวกวยอย่างภาคภูมิใจ ทั้งยังคิดสานต่ออาชีพทอผ้าไหมโซดละเวให้อยู่คู่ชุมชนบ้านแต้พัฒนาตลอดไป