กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ซีพี ออลล์
จบลงอย่างน่าประทับใจสำหรับโครงการ "Blogger's Bootcamp By CP ALL" ค่ายรวมเหล่าบล็อกเกอร์ชื่อดังกว่า 60 คน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนหน้าใหม่ในการค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัว บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมการมอบความรู้และส่งต่อเจตนารมณ์จากรุ่นพี่สู่คนอยากเขียน จัดโดย ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย, สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA) และคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)
นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทประสบความสำเร็จในการจัดทำ "โครงการเซเว่น บุ๊ค อวอร์ด" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เชิดชูเป็นขวัญกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนไทยมากว่า 14 ปี เพื่อส่งเสริมการศึกษา พัฒนาการอ่านการเรียนรู้ให้กับคนไทยและเยาวชนไทย สำหรับในปีนี้ ซีพี ออลล์ ได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดจากนักเขียนปลายปากกาสู่นักเขียนยุคดิจิทัลหรือที่เรียกว่า "บล็อกเกอร์" โดยจัดทำโครงการ Blogger's Bootcamp By CP ALL ครั้งที่ 1 เพื่อสนับสนุนและผลักดันงานเขียนคุณภาพที่สามารถสร้างอาชีพและมองหาเอกลักษณ์ สร้างสรรค์บล็อกที่ดีมีคุณภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดจากบล็อกเกอร์รุ่นพี่ตลอดจนพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีในการผลิตเนื้อหาให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
"วัตถุประสงค์หลักของการริเริ่มโครงการฯนี้ คือเพื่อต่อยอดและส่งเสริมด้านการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้แก่เหล่าบล็อกเกอร์นักสื่อสารยุคใหม่ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนหน้าใหม่ ค้นหาเอกลักษณ์โดดเด่นและยังสนับสนุนให้เกิดบล็อกเกอร์ไทยที่มีคุณภาพสร้างสรรค์งานและดำรงซึ่งคุณธรรม จริยธรรมที่ดีของนักสื่อสาร นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มบล็อกเกอร์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และส่งต่อเจตนารมณ์จากบล็อกเกอร์รุ่นพี่สู่รุ่นน้องทั้งยังมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดบล็อกคุณภาพ ผลิตงานเขียนทรงคุณค่าแก่ผู้อ่านต่อไป" นายบัญญัติ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับค่าย Blogger's Bootcamp By CP ALL มีวิทยากรชื่อดังจากวงการโซเชี่ยลมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์สลับกันไปในทุกสัปดาห์ ได้แก่ วิชัย มาตกุล, เบ๊น-ธนชาติ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ แห่ง แซลมอน เฮ้าส์ (Salmon House )บรรยายหัวข้อ "ผลิตคอนเท้นท์ให้มีคุณภาพ", บี-อภิชาติ ขันธวิธี ผู้สร้างแฟนเพจ HR-The Next Gen บรรยายหัวข้อ "การสร้างเอกลักษณ์และตัวตนผ่านเรื่องราวรอบตัว", ว่านน้ำ ณ พันธุ์ทิพย์
บรรยายหัวข้อ "จริยธรรมในการทำคอนเท้นท์", อู๋-อติชาติ เชิงชวโน จากเพจ Spin9 บรรยายหัวข้อ "ประสบการณ์บล็อกเกอร์จากพี่ถึงน้อง", พิม มณีไทย (ป้าพิมพ์), มด-ดวงกมล ถิระวัฒน์ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง, ไนท์-ภูมินทร์ สิงห์กวาง บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว บรรยายหัวข้อ "ประสบการณ์การทำงานกับ...แบรนด์และเอเจนซี่", โค้ดดี้-อรรถพล โพธิ์หาญรันตกุล เอคเซคคูทีฟ ครีเอทีฟ แห่ง เพจ "เสือร้องไห้" บรรยายหัวข้อ "เมื่อบล็อกต้องทำงานกับ...แบรนด์และเอเจนซี่", ขจร เจียรนัยพานิชย์, อาจารย์ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย บรรยายหัวข้อ "ใช้สื่อโซเชียลในมืออย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด" พร้อมด้วย โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และ ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) บรรยายหัวข้อ "โซเชียลมีเดีย...พื้นที่ชีวิตที่เปลี่ยนไป"
นายนเรศ ติยะวัฒน์วิทยา เจ้าของเพจ "ใครสอนให้โพสรูปของกินตอนดึก" ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคน หนึ่งในบล็อกเกอร์ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า เนื่องจากบล็อกเกอร์ยังเป็นความคลุมเครือระหว่างอาชีพและงานอดิเรก ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่าอาชีพแต่ละคน เมื่อบล็อกเกอร์นั้นไม่ได้เป็นอาชีพที่ชัดเจน การที่เราจะหาความรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ไม่มีในตำราและ Google แน่นอน ซึ่งเป็นเป็นกำแพงที่ทำให้พัฒนาได้ยาก โดยเฉพาะหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยได้รู้จักรุ่นพี่ หรือมีประสบการณ์ทำงานมากนักในขณะที่เราไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอะไร อะไรที่เรียกว่าเก่ง อะไรที่เรียกว่าดี และคำถามอีกมากมายเต็มไปหมดงานนี้เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่เอา บล็อกเกอร์รุ่นพี่ในวงการที่มีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้เปิดโลกให้พวกเราได้เข้าใจในเรื่องต่างๆมากยิ่งขึ้นและนอกจากพี่ๆ วิทยากรแล้ว ยังได้เจอกับเพื่อนบล็อกเกอร์ที่เราสามารถพูดคุยและแชร์ในสิ่งที่พวกเราเท่านั้นเข้าใจกันดี ซึ่งเหล่านี้ทำให้สามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้เข้ากับสไตล์ของเราเองแล้วพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นในเส้นทางที่เป็นประโยชน์ทั้งตัวเองและผู้อ่านด้วย