PwC เผยผู้บริโภคพร้อมใช้เอไอและหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบริการสุขภาพ

ข่าวเทคโนโลยี Friday May 19, 2017 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--PwC Consulting PwC เผยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และหุ่นยนต์จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจบริการสุขภาพในระยะข้างหน้า แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเข้ามารักษาโรคแทนที่แพทย์ที่เป็นมนุษย์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ให้การตอบรับกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการเข้าถึงบริการที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น รายงานชี้ว่า ประชากรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีความพร้อมในการใช้เอไอและหุ่นยนต์ทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ยังยินดีให้หุ่นยนต์ทำการผ่าตัดเล็ก ส่วนการใช้เอไอและหุ่นยนต์ในการดูแลสุขภาพในไทยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหตุใช้เงินลงทุนสูง และระบบจัดการฐานข้อมูลยังไม่พร้อม รวมทั้งต้องปรับทัศนคติของแพทย์และสถานพยาบาล PwC เปิดเผยถึงรายงาน What doctor? Why AI and robotics will define New Health ที่ทำการศึกษาสำรวจประชากรมากกว่า 11,000 คนจาก 12 ประเทศทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (55%) มีความยินดีที่จะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูงหรือหุ่นยนต์มาช่วยตอบคำถามด้านสุขภาพ ทำการวินิจฉัยโรค หรือแม้กระทั่งช่วยแนะนำการรักษา ทั้งนี้ ผลจากสำรวจที่สำคัญ 3 ประการที่ PwC พบได้แก่ ผู้คนยินดีที่จะใช้งานเอไอและหุ่นยนต์มากขึ้น หากช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพได้ดีกว่าเดิม ความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำของการวินิจฉัยและการรักษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาเต็มใจที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ ความไว้วางใจในเทคโนโลยียังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับและนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ขณะที่ สัมผัสแห่งมนุษย์ (Human touch) ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์การดูแลสุขภาพ 'ตลาดเกิดใหม่' เปิดกว้างในการรับการรักษาด้วยเทคโนโลยี Fig 1: Percentage of respondents willing/unwilling to engage with AIand robotics for their healthcare needs (by country) รายงานของ PwC ระบุด้วยว่า ประชากรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเปิดกว้างต่อการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาดูแลสุขภาพมากกว่าประชากรในตลาดที่พัฒนาแล้วและมีระบบบริการสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า (เช่น สหราชอาณาจักร และยุโรปตะวันตก/เหนือ) โดยคนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ยินดีที่จะได้รับการรักษาจากผู้ให้บริการสุขภาพที่ไม่ใช่คน (Non-human healthcare provider) มากกว่า โดยอาจสืบเนื่องจากระบบบริการสุขภาพของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา PwC ยังพบว่า จากการสำรวจกรณีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ปฏิบัติการในห้องผ่าตัดพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งและสูงสุดถึง 73% ยินดีที่จะให้หุ่นยนต์ดำเนินการในขั้นตอนการผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ แทนแพทย์ที่เป็นมนุษย์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไนจีเรีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเต็มใจรับการผ่าตัดเล็กโดยหุ่นยนต์มากที่สุด (73%, 66% และ 62% ตามลำดับ) เปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักรที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เต็มใจเพียง 36% อย่างไรก็ดี ในกรณีการผ่าตัดใหญ่ (Major surgery) เช่น ผ่าตัดเข่าหรือสะโพก ผ่าตัดเนื้องอก หรือผ่าตัดหัวใจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงวางใจให้แพทย์ที่เป็นมนุษย์ทำการรักษาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามในบางประเทศที่เต็มใจเข้ารับการผ่าตัดใหญ่โดยหุ่นยนต์ เช่น ไนจีเจียอยู่ที่ 69% เนเธอร์แลนด์ที่ 40% และสหราชอาณาจักรที่ 27% PwC ยังได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ หรือไม่ยอมรับบริการในการรักษาจากเอไอและหุ่นยนต์ดูแลสุขภาพ พบว่า การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่ง่ายและรวดเร็วกว่า (36%) และการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ (33%) เป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้พวกเขาสนใจใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม การขาดความไว้วางใจให้หุ่นยนต์ตัดสินใจ (47%) และการขาดสัมผัสแห่งมนุษย์ (41%) ก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเกิดความลังเลเช่นกัน รายงานชี้ว่า แม้ว่าเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่ข้อดีและข้อเสียอย่างละ 2 อันดับที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดในเกือบทุกประเทศที่ทำการสำรวจ ยกเว้นซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การขาดสัมผัสแห่งมนุษย์เป็นข้อเสียข้อใหญ่ที่สุดของการรักษาด้วยหุ่นยนต์ที่ทำให้พวกเขาไม่สนใจที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ ดร. ทิม วิลสัน หัวหน้าสายงานอุตสาหกรรมสุขภาพประจำตะวันออกกลาง ของ PwC กล่าวว่า "ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ เอไอและหุ่นยนต์คืออนาคตของการบริการสุขภาพ เพราะวันนี้การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถจ่ายได้ และนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีล้วนเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินชีวิตของทุกคน เรามองว่า ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการบรูณาการเอไอและหุ่นยนต์เข้ากับระบบการดูแลสุขภาพที่มีอยู่ และสร้างให้เกิดบริการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในระยะข้างหน้ามีอยู่อย่างมหาศาล" ทั้งนี้ PwC ยังได้แนะนำขั้นตอนต่อไปสำหรับรัฐบาล ธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ สถานพยาบาล และผู้เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ของบริการดูแลสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ได้แก่ รัฐบาล ต้องกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพ กรอบการกำกับดูแล และกฎข้อบังคับที่ครอบคลุมทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ตลอดจนออกมาตรการกระตุ้นที่เหมาะสมในการสนับสนุนแนวทางการรักษาด้วยวิธีการใหม่ๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องเข้าใจหลักการทำงานของเอไอและหุ่นยนต์ว่าสามารถเอื้อประโยชน์และทำงานร่วมกับพวกเขาได้ทั้งในบริบททางการแพทย์และระบบนิเวศน์ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเปิดใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย ผู้ป่วย ต้องศึกษาและทำความคุ้นเคยกับการใช้เอไอและหุ่นยนต์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตน ภาคเอกชนที่พัฒนาเอไอและหุ่นยนต์ ต้องสร้างโซลูชันส์ที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและทรัพยากรที่ระบบดูแลสุขภาพกำลังเผชิญอยู่ ในสาระสำคัญ เอกชนสามารถใช้โอกาสที่มีในการเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจบริการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นผ่านการนำเสนอโซลูชันส์ในการดูแลสุขภาพผ่านการใช้เอไอและหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้ที่ทำการตัดสินใจของสถาบันดูแลสุขภาพ ต้องมีการพัฒนาหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence base) มีการประเมินผลสำเร็จ และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งต้องลำดับความสำคัญของภารกิจ และมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ด้าน นาย ดีน อาร์โนลด์ หัวหน้าสายงานอุตสาหกรรมสุขภาพ ประจำภาคพื้นยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของ PwC กล่าวว่า "เป็นที่ชัดเจนว่า ปัจจุบันคนเริ่มให้ความสนใจและยินดีที่จะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอไอและหุ่นยนต์มาใช้ในการดูแลสุขภาพของตน แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปคือ การที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพทั้งระบบต้องเริ่มหันมาคิดในมุมที่ต่างออกไปว่า เราจะให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในวันนี้อย่างไร เราต้องคิดให้รอบคอบและรอบด้านมากขึ้นว่าจะนำกลยุทธ์ไปใช้ปฏิบัติในแต่ละที่ แต่ละประเทศอย่างไรให้ได้ผล ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความท้าทายของพวกทุกคน" สำหรับประเทศไทยนั้น นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า "การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในธุรกิจบริการดูแลสุขภาพน่าจะช่วยได้มาก เพราะอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่ลักษณะของการนำมาใช้คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะข้อจำกัดด้านเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับระบบการจัดการฐานข้อมูลคนไข้ของไทยยังไม่ดีเพียงพอ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย โดยส่วนใหญ่โรงพยาบาลในประเทศจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลธ์มาช่วยมากกว่า "แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราเริ่มเห็นไทยศึกษาทดลองระบบเอไอและหุ่นยนต์บ้างแล้ว โดยโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เช่น นวัตกรรมการตรวจหาความผิดปกติ หรือ ตรวจจับโรคระยะเริ่มต้น รวมไปถึงแอปพลิเคชันในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถจัดการดูแลสุขภาพตัวเองได้ในระดับเบื้องต้น แต่อาจยังไม่ถึงขั้นนำเอาระบบเอไอมาใช้ในการวิเคราะห์การรักษาและตัดสินใจแทนแพทย์ที่เป็นมนุษย์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ